Header Ads

Header ADS

พระอาจารย์ ศาสตราจารย์ ดร.คำหมาย ธัมมสามิ กับการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

ศาสตราจารย์ พระดร.คำหมาย ธัมมสามิ
กับการเผยแผ่พระพุทธศาสนา




พระอาจารย์ ศาสตราจารย์ ดร.คำหมาย ธัมมสามิ เจ้าอาวาสวัดออกฟอร์ดพุทธวิหาร ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นพระนักวิชาการฝ่ายเถรวาทที่มีภูมิธรรม ภูมิความรู้ เป็นพระนักปฏิบัติรูปหนึ่ง เป็นชาวไทใหญ่ เกิดที่เมืองลายข่า เขตรัฐฉาน ผมรู้จักชื่อเสียงท่านมานานเมื่อตอนเป็นสามเณรอยู่วัดพระพุทธบาทตากผ้า จ.ลำพูน มีหลวงพี่มงคล ท่านได้เล่าประวัติให้ฟังว่าท่านเป็นครูบาอาจารย์ที่เก่ง มีความอดทน จิตใจเยือกเย็น มีเมตตาสูง สติปัญญาเลิศล้ำแต่ไม่เคยเจอตัวจริงท่านสักครั้ง จนกระทั่งได้มาอยู่กรุงเทพฯ และได้มาทำงานที่ มจร เมื่อหลายปีก่อน และได้ติดตาม ดูแลท่านเมื่อยามมาร่วมดำเนินงานจัดงานวิสาขโลกที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ และพบท่านหลายๆครั้ง จนกล่าวได้ว่าสนิทคุ้นเคยกันดี และจนกระทั่งผมได้ไปปฏิบัติศาสนกิจช่วยงานที่วัดพุทธาราม กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก็ได้แวะเวียนไปช่วยงานที่วัดออกฟอร์ดพุทธวิหารอยู่เรื่อยๆ และท่านก็สละเวลามาสอนภาษาอังกฤษแกผม แม้ท่านจะไม่ค่อยมีเวลานัก ตอนนั้นภาษาอังกฤษผมก็ถือว่าอ่อนมาก ท่านก็กรุณาสอนด้วยความเมตตาเอ็นดู ให้คำแนะนำ ผมได้มีโอกาสไปปฏิบัติศาสนกิจช่วยงานวัดออฟอร์ดหลายครั้งหลายครั้ง ได้ทำวัตรสวดมนต์ ได้จัดทำอาหารถวายท่าน


ทราบอุปนิสัยใจคอ ทราบถึงความเมตตาของท่านต่อผู้คน ใครมีปัญหาเรื่องการศึกษา เรื่องครอบครัว เรื่องการปฏิบัติธรรม เรื่องวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนไทย คนไทย คนพม่า ศรีลังกา คนอังกฤษ หรือชาติไหน ก็สามารถเข้าพบท่านได้โดยง่าย ไม่มีพิธีรีตองอะไรยุ่งยาก และด้วยเมตตาอันมากมายในใจท่านนี้เอง ทำให้วัดออฟอร์ดพุทธวิหาร มีผู้คนหลั่งไหลเข้าไปปฏิบัติธรรม สวดมนต์ ภาวนา และมีกิจกรรมต่อเนื่องตลอดทั้งเดือน ทั้งปี

ใครที่พบเจอพระอาจารย์ท่านจะทราบว่า ท่านจะมีเสียบแหบเป็นเอกลักษณ์ ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าท่านเป็นมาตั้งแต่กำเนิดแต่อย่างไร แต่เพราะสาเหตุว่าท่านใช้เสียงเยอะในการบรรยาย ในการสอนตามมหาวิทยาลัยต่างๆที่เชิญท่านไป ทั้งในประเทศอังกฤษ อเมริกา ยุโรป หรือมารับฟังบรรยายท่านที่วัด ฉะนั้นวันหนึ่งๆ เรียกว่าแทบไม่มีเวลาหยุดพัก และท่านก็จะเดินทางไปศรีลังกา สิงคโปร์ พม่า ไทย และหลายๆประเทศอยู่เสมอ เนื่องด้วยท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดออกฟอร์ดพุทธวิหาร ประเทศสิงคโปร์ มีสาขาวัดตั้งอยู่ที่นั่น และวัดออกฟอร์ดพุทธวิหารที่ประเทศมาเลเซีย และพม่า อีกสองแห่ง

ผลงานท่านมีมากมายแทบจะกล่าวไม่หมด ผมได้ไปสัมผัสชีวิตในประเทศอังกฤษ และอยู่ช่วยงานสองวัด อยู่ประจำคือวัดพุทธาราม และวัดออกฟอร์ดพุทธวิหาร ๆ นั้นได้ทราบว่าท่านพระอาจารย์ ท่านไปสอนหลายที่มาก แต่ด้วยเหตุที่ท่านชอบไปลำพังผู้เดียว ไม่ได้พาลูกศิษย์ไปด้วย ไม่ได้เก็บภาพไว้ หลายแห่งมากทีเดียว เรียกว่าไปเผยแผ่ผู้เดียวท่านสามารถดูได้จากคลิปด้านล่าง ที่ลูกศิษย์ได้จัดทำประวัติท่านไว้ และอุปนิสัยอย่างหนึ่งที่ผมเกิดความประทับใจ คือท่านมีหัวใจรักในการเรียนรู้ตลอดเวลา และไม่ใช่รู้เพียงผู้เดียวเท่านั้น อยู่ใกล้ท่านๆจะพาไปร้านหนังสือ ซื้อหนังสือให้ เล่าเกร็ดการเรียน ให้กำลังใจในการศึกษาเล่าเรียนอยู่เสมอๆ เวลาอยู่ใกล้ท่านหากทำสิ่งใดผิดพลาด บกพร่อง ท่านจะสอนด้วยความเมตตา ไม่ได้ดุกล่าว ท่านจะใช้เหตุผล พูดให้เข้าใจว่าคราวหน้าควรรอบคอบมากกว่านี้ และท่านได้มาพำนักเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ประเทศอังกฤษ ได้ศึกษาจนจบปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยออกฟอร์ด ดังนั้นท่านจึงสามารถเข้าใจวิถีชีวิตชาวตะวันตกได้เป็นอย่างดี และเวลาท่านสอนก็จะสอนเหมือนฝรั่ง โดยเอาผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ใช้การถามไถ่ การเปิดให้แสดงความคิดเห็น มากกว่าที่จะเป็นการบรรยายอยู่เพียงฝ่ายเดียว พูดง่ายคือท่านจะเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นเสรี แบบฝรั่ง อยากถามเรื่องพระพุทธศาสนา ท่านสามารถตอบได้อย่างกระจ่าง และมีหลักวิชาการ ด้วยเหตุที่มีผู้คนมาตั้งคำถาม สนทนากับท่านมากมาย ท่านมักจะเจอคำถาม และวิธีการตั้งคำถามแบบฝรั่ง ดังนั้นคำถามโยมที่ถามท่าน ก็จะมีหลากหลายรูปแบบ ถามแบบตรงๆ ไม่อ้อมค้อม 

ผมได้รับความเมตตาจากท่านอย่างมาก เดินทางถึงวัดออกฟอร์ดครั้งแรก ท่านเมตตาอย่างสูงนำชมร้านหนังสือที่โด่งดังใหญ่ที่สุดในเมืองมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด และนำชมมหาวิทยาลัยด้วย และหลายครั้งเวลาท่านจะเดินทางมาเมืองไทย ไปศรีลังกา ไปสิงคโปร์ หรือไปพม่า ในกระเป๋าเดินทางของท่านกล่าวได้ว่าแทบจะไม่มีอะไรสำคัญที่จะใส่ขึ้นเครื่องนอกจากตำรับตำราหนังสือจากประเทศอังกฤษ ที่ขนไปทีละเล็กละน้อยเพื่อนำไปไว้ที่ห้องสมุดหลายแห่ง เช่น ศรีลังกา เพราะมีลูกศิษย์ชาวไทยใหญ่ที่เป็นพระภิกษุศึกษาเล่าเรียนที่นั่นนับเป็นหลายร้อยชีวิต และสิงคโปร์ และประเทศไทย พม่า รวมทั้้งเก็บสะสมเพื่อไว้เพื่อนำไปเข้าห้องสมุดที่มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาไทยใหญ่ ซึ่งทราบว่าตอนนี้มีหนังสือมากกว่าสองหมื่นเล่ม ซึ่งนำมาจากประเทศอังกฤษ และหลายๆประเทศที่ท่านเดินทางไป และได้มีการแปลหนังสือจากหลายๆภาษาที่เกี่ยวข้องพระพุทธศาสนาเป็นภาษาไทยใหญ่ เช่น หลักสูตรนักธรรม ของเมืองไทยก็ได้รับการแปลด้วยเช่นกัน และอีกหลายๆเล่มกำลังอยู่ในระหว่างการแปล โดยพระนิสิตชาวไทยใหญ่ที่มาศึกษาเมืองไทย ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ตั้งคณะทีมงานช่วยกันแปลเพื่อนำไปใช้เป็นหนังสือตำราเผยแพร่แก่ชาวไทยใหญ่ต่อไป ท่านพูดเสมอว่า หลายๆประเทศจะมีนักปราชญ์ด้านพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว ดังนั้นหนังสือเล่มไหนทรงคุณค่ามาก ก็แปลเป็นภาษาเรา จะเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง และพุทธศาสนา ได้เรียนรู้แนวคิด ได้เรียนรู้ตำราจากนานาประเทศ จะเป็นการเสริมองค์ความรู้ให้มากขึ้น กว้างขึ้น ได้ฟังมุมมองใหม่ๆ

และเมื่อต้นปี 2558 ท่านก็ได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งรัฐฉานขึ้น ที่เมืองต้นตี หรือตองกอง ซึ่งท่านดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดี และผู้ก่อตั้ง โดยมีคณะสงฆ์ไทยใหญ่ และประชาชน พุทธศาสนิกชนหลายประเทศให้การสนับสนุนอยู่ ท่านมีลูกศิษย์จำนวนมาที่มาศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และหลายรูปได้ยึดท่านเป็นต้นแบบในการศึกษา มีความอดทน มีความพยายาม

ส่วนการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของท่านนั้น อย่างที่เห็นในภาพ ท่านแม้จะเจ็บป่วยอาพาธอย่างไร แต่ยังสามารถไปบรรยายให้ความรู้ เทศน์แก่พุทธศาสนิกชนที่นิมนต์ท่านไว้ ท่านก็จะเดินทางไปอย่างแน่นอน ปกติท่านก็จะรักษาสุขภาพตลอดเวลา เรื่องอาหารการขบฉัน ท่านจะฉันมังสวิรัต และปฏิบัติมาหลายสิบปี และท่านจะปฏิบัตินั่งสมาธิเป็นประจำ ผู้ที่อยู่ใกล้ท่านจะทราบดีว่า ท่านเมตตาสูงมาก แม้ร่างกายจะถูกเบียดเบียนด้วยโรคาพาธ แต่เรื่องการสอนให้คนได้เข้าถึงธรรม ย่อมมาก่อนเสมอ ขอกราบอนุโมทนาคารวะด้วยใจอย่างยิ่ง ขออวยพรให้ท่านอาจารย์หายป่วยโดยเร็ววัน

 
ฟังธรรมบรรยายท่าน
https://www.facebook.com/dhammadownload.news/videos/1255960907799579/






 














ไม่มีความคิดเห็น

รูปภาพธีมโดย RASimon. ขับเคลื่อนโดย Blogger.