ครูบาอุกแก๊ส จาก...เชียงใหม่ถึงกรุงเทพฯ "เกลื่อน!" โดยเอกพงศ์ ประดิษฐ์พงษ์
ครูบาอุกแก๊ส จาก...เชียงใหม่ถึงกรุงเทพฯ "เกลื่อน!"
คำว่า "ครูบา" เป็นภาษาบาลี มาจากคำว่า "ครุปิ อาจาริโย" แปลว่าเป็นทั้งครูและอาจารย์ มาจากคำว่า "ครุปา" และเพี้ยนเป็น "ครูบา" ในที่สุด เป็นคำที่พบว่า ใช้กันเฉพาะในวัฒนธรรมล้านนาเท่านั้น เป็นตำแหน่งทางสังคมของสงฆ์ หมายถึงการยกย่องเชิดชูพระสงฆ์ผู้ได้รับการยกย่องและนับถือศรัทธาจากประชาชน หรือมีผลงานปรากฏแก่ชุมชน โดยจะใช้คำว่า ครูบานี้ เป็นสรรพนามนำหน้า ภิกษุสงฆ์รูปนั้นๆ พระสงฆ์ทั่วๆ ไปไม่มีสิทธิ์แต่งตั้งตัวเองเป็นครูบา อย่างไรก็ตาม ในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา ได้เกิดปรากฏการณ์ในการผุดขึ้นมาของครูบาหนุ่ม ถึงแม้จะมีไม่กี่รูปแต่ก็เป็นที่เอิกเกริก และไม่เฉพาะจังหวัดเชียงใหม่เท่านั้น ได้กระจายไปจังหวัดต่างๆ ทั้งภาคกลางและอีสาน
ผศ.วิลักษณ์ ศรีป่าซาง อาจารย์ประจำแผนกวิชาภาษาตะวันออก
คณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ภาคพายัพ
จ.เชียงใหม่ ผู้ศึกษาตำนานครูบาทางภาคเหนือ ให้ความกระจ่างว่า "ครูบา"
ตามความหมายดั้งเดิมเป็นสรรพนามที่ใช้เรียกขานพระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ
พระผู้ครองตนเป็นอย่างดีตลอดอายุการบวช เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ
รวมถึงพระผู้สร้างสิ่งดีงามกับพระศาสนาให้เป็นที่ประจักษ์
ซึ่งอาจหมายถึงการสร้างศาสนสถาน หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ยังต้องเป็นพระที่มีอายุพรรษาไม่น้อยกว่า ๔๐ ปีขึ้นไป
นั่นหมายความว่าครูบาจะต้องมีอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป
ภาคเหนือพระที่มีอายุมากและมากพรรษา
แต่ไม่เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนในการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ
หรือไม่เคยสร้างศาสนสถาน จะไม่นิยมเรียกว่าครูบา แต่จะเรียกขานว่า ตุ๊ หรือ
ธุ อาจเติมคำว่า ลุง ปู่ หรือพ่อ ตามหลัง เช่น ธุลุงคำ ธุปู่เป็ง
ธุพ่อแก้ว เป็นต้น ในขณะที่ "ครูบา" ในความหมายของชาวไทเขินเชียงตุง
กลับหมายถึงหนึ่งในลำ กับตำแหน่งทางสงฆ์ เปรียบได้กับ พระครู
เจ้าคุณของบ้านเรา
เป็นที่น่าสังเกตว่าการยกย่องให้เป็นครูบากลับไม่ถูกใช้กับพระภิกษุที่
ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบที่มาจากต่างถิ่น แต่จะเรียกกับพระหรือ "สังฆะ"
ที่มีพื้นเพในทางภาคเหนือเท่านั้น
นอกเหนือจากครูบาทั่วไปแล้ว ยังมี "ครูบาเจ้า"
ที่ถือเป็นครูบาเหนือครูบา ครูบาเจ้า ในอดีตถูกแบ่งเป็นสองแบบ คือ
ครูบาเจ้าที่มีเชื้อสายเจ้านายฝ่ายเหนือ เช่น ครูบาเจ้าเกษม เขมโก
และครูบาเจ้าที่ไม่ได้สืบเชื้อสายเจ้านายฝ่ายเหนือ
แต่เป็นผู้นำหรือเจ้าทางจิตวิญญาณอย่างแท้จริง เช่น ครูบาเจ้าศรีวิชัย
เป็นต้น
สำหรับการเรียกพระสงฆ์ทางเหนือว่าครูบานัน
ผศ.วิลักษณ์ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า
จะมีการสถาปนานามที่ค่อนข้างหรูหราออกแนวโบราณ
ทั้งยังมีวัตรปฏิบัติออกไปในทางนักอนุรักษนิยมโดยเฉพาะด้านล้านนานิยม
ขณะเดียวกันยังมีธรรมเนียมแปลกใหม่ในการปฏิบัติ เช่น
กำหนดกฎเกณฑ์ในการเข้าพบมากกว่าพระปกติ
การเกณฑ์ชาวบ้านตอนรับกล่าวคำสาธุเมื่อเดินผ่านจนเกิดปีติอัศจรรย์
บางรูปมีเรื่องเล่าขานประจำตัวในทางอิทธิฤทธิ์
ส่วนบางรูปยังถึงขั้นนั่งเสลี่ยงโปรยข้าว ตอกดอกไม้ในงานพิธีสำคัญ
"ครูบารุ่นใหม่มักได้รับการเคารพนบไหว้จากศรัทธานอกพื้นที่
โดยเฉพาะผู้มีฐานะและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จากภาคกลาง
ขณะที่คนในภาคเหนือกลับไม่ยึดติดมากนัก
การเข้าหาของผู้มีฐานะและชื่อเสียงเหล่านี้ยังเป็นการเสริมบารมีให้ครูบาได้
รับการยกย่องมากขึ้นไปเป็นเงาตามตัว
การสถาปนาความเป็นครูบากลับไม่เกิดขึ้นเหมือนเช่นในอดีต
ไม่มีฉันทามติจากศรัทธาประชาชน
แต่เป็นการสถาปนาขึ้นเองและเป็นที่รู้จักของศรัทธาประชาชนผ่านช่องทางประชา
สัมพันธ์หลายรูปแบบ ทั้งวัตถุมงคล ป้ายโฆษณางานบุญ งานมงคล
หรือการจัดสร้างศาสนสถาน
ขณะที่บางรูปถึงขั้นมีทีมพีอาร์หรือประชาสัมพันธ์ส่วนตัว
ครูบารุ่นใหม่ซึ่งไม่ผ่านเงื่อนไขเช่นครูบาในอดีต
โดยเฉพาะบารมีพรรษาที่ยังน้อย มักถูกเปรียบเปรยเป็น "ครูบาอุกแก๊ส"
หรือครูบาบ่มแก๊ส
ไม่ต่างจากผลไม้ที่ฝืนธรรมชาติด้วยกระบวนการเร่งให้สุกเร็วขึ้น
แต่เราโชคดีที่ครูบาหนุ่มหลายรูปถูกกรอบสังคมกำหนดให้ต้องเป็นคนดี"
ผศ.วิลักษณ์กล่าว
ครูบาปี ๒๐๑๐
การเกิดของครูบาในยุคปัจจุบัน อาจารย์วิลักษณ์อธิบายว่า มีครูบารุ่นใหม่เกิดขึ้นหลายรูป ครูบายุคใหม่ยังถูกแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นครูบาที่เกิดจากนิมิตความเชื่อ อย่างล้านนาโบราณ เช่น นิมิตจำหมาย หรือการกลับชาติมาเกิด โดยในวัยเด็กจะมีนิสัยดี ไม่ชอบฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ชอบปั้นพระพุทธรูป จึงมีความเชื่อว่าเป็นครูบากลับชาติมาเกิดราวดาไลลามะตามความเชื่อของทิเบต
ในขณะที่ครูบาอีกกลุ่มจะพบเห็นมากกว่ากลุ่มแรก
ครูบากลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะมีอายุและพรรษาไม่มาก บางรูปเพียง ๑๐-๑๕ พรรษา
ก็สถาปนาตนเป็นครูบา ครูบากลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะมีนิสัยออกทางอ้อนแอ้น
และมีจุดสังเกตค่อนข้างชัดคือสัญลักษณ์ภายนอกที่มักจะหยิบยืมอัตลักษณ์ของ
ครูบาเจ้าศรีวิชัยมาใช้ ด้วยการนุ่งห่มจีวรสีกลัด กุมผ้ามัดอก ห้อย
ลูกประคำ และสีพัดนกยูง แต่วัตรปฏิบัติกลับตรงกันข้ามกับครูบาเจ้าศรีวิชัย
“คม ชัด ลึก” ได้รวบรวมข้อมูลพระที่อยู่ในภาคอื่นๆ
ที่ลูกศิษย์เรียกครูบา เช่น ครูบากฤษณะ อินทวัณโณ สำนักสงฆ์เวฬุวัน
อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ครูบาแบ่ง ฐามุตฺตโม หรือพระครูสังฆรักษ์เสมา
เจ้าอาวาสวัดบ้านโตนด อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา หลวงพ่อครูบาเจ้าเพชร วชิรมโน
วัดอ้อมแก้วมณีโชติ ต.ไผ่หลิว อ.ดอนพุด จ.สระบุรี หลวงปู่ครูบาต้นน้ำ
หรือพระอาจารย์วุฒิพงษ์ สัตถาโย อดีตเจ้าอาวาส วัดทันต์คีรีวัน
(เขาลูกช้างดำ) ต.ทุ่งเบญจา อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ครูบาบุญคุ้ม
เจ้าอาวาสวัดโพธิสัตว์บรรพตนิมิต ต.หนองหญ้า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี
และหลวงพ่อครูบาศรีนวล ธัมมาวุโธ วัดเพลง ถนนรัตนาธิเบศร์ ต.ไทรม้า อ.เมือง
จ.นนทบุรี เป็นต้น
ส่วน “ครูบา” ซึ่งเป็นพระล้านนาแท้ๆ เช่น ครูบาเหนือชัย โฆสิโต
วัดถ้ำอาชาทอง ต.ศรีค้ำ อ.แม่จัน จ.เชียงราย ครูบาน้อย เตชะปัญโญ
หรือพระครูสิริศีลสังวร เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งวัดศรีดอนมูล อ.สารภี
จ.เชียงใหม่ ครูบาบุญชุ่ม ญาณสวโร เจ้าอาวาสวัดดอยเวียงแก้ว อ.เชียงแสน
จ.เชียงราย ครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต วัดแสงแก้วโพธิญาณ จ.เชียงราย
"พระครูไพศาลพัฒนโกวิท" หรือที่รู้จักกันในนาม "ครูบาเทือง นาถสีโล"
วัดบ้านเด่น ต.บ้านเด่น อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
การสถาปนาตนเป็นครูบา มีจุดสังเกตค่อนข้างชัด
คือสัญลักษณ์ภายนอกที่มักจะหยิบยืมอัตลักษณ์ของครูบาเจ้าศรีวิชัยมาใช้
ด้วยการนุ่งห่มจีวรสีกลัด กุมผ้ามัดอก ห้อยลูกประคำ และสีพัดนกยูง
เรื่อง - ภาพ... " เอกพงศ์ ประดิษฐ์พงษ์" ศูนย์ข่าวเชียงใหม่
ที่มาข่าว : คมชัดลึก
ไม่มีความคิดเห็น