Header Ads

Header ADS

เป็นเด็กวัดแล้วไง ?


  • เมื่อพูดถึง “เด็กวัด” หลายคนคงจะนึกถึงภาพของเด็กชาย หรือวัยรุ่นชายที่ถือย่าม ปิ่นโต หรือถุงกับข้าว เดินตามหลังพระภิกษุ ที่ออกบิณฑบาตตอนเช้า และคอยหยิบอาหารที่เต็มออกจากบาตร แต่เด็กหรือวัยรุ่นเหล่านี้ มาจากไหนและมีความเป็นอยู่อย่างไร อาจจะอยู่ห่างจากความคิด และวิถีการดำเนินชีวิตของเรา อย่างไรก็ดี วัดและพุทธศาสนิกชน เป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก
  • เด็กวัดหลายคน ได้ให้ความหมายว่า เป็นเด็กชายซึ่งอาศัยอยู่ในวัดและคอยรับใช้พระสงฆ์ โดยเด็กวัดจะคอยถือบาตรของพระสงฆ์ในช่วงการบิณฑบาตยามเช้า หลังจากนั้น เด็กวัดจะมีหน้าที่จัดเตรียมอาหารของพระสงฆ์ก่อนที่จะรับประทานอาหารที่เหลือจากพระฉันเสร็จ ("ข้าวก้นบาตร") เด็กวัดเป็นผู้ถือศีล 10 ประการ เด็กชายบางคนถูกส่งมาเป็นเด็กวัดเพื่อประกอบความดี บ้างก็ถูกส่งมาเพราะมีที่พักและอาหารโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เด็กวัดบางคนถูกพระเก็บมาเลี้ยงเนื่องจากไร้พ่อแม่ขาดมิตร ในขณะที่บางส่วนถูกส่งมาเพื่อศึกษาธรรม เด็กวัดบางส่วนบวชเป็นพระ และบ้างก็อาจถือว่าเด็กวัดเป็นขั้นตอนอย่างเป็นทางการสำหรับการบวชเป็นสามเณร ขึ้นอยู่กับอายุและประเพณีท้องถิ่น
  • ในสมัยโบราณ ที่ยังไม่มีโรงเรียนเช่นปัจจุบัน เด็กผู้ชายมักถูกส่งเข้ามาอยู่ที่วัด เพราะวัดเป็นสถานที่แห่งเดียว ที่จะให้การศึกษาเล่าเรียน ศิลปะวิทยาการแขนงต่างๆ โดยมีพระสงฆ์ซึ่งเป็นผู้มีความรู้สูงกว่าชาวบ้าน เป็นผู้ประสิทธิประสาทวิชาความรู้ ให้ทั้งทางโลกและทางธรรม รวมถึงการอบรมจรรยามารยาท ดังนั้น บุคคลไม่ว่าจะมีสถานภาพ ทางเศรษฐกิจเช่นไร ถ้าต้องการให้บุตรหลานได้เล่าเรียน ก็จะนำไปฝากให้อยู่ที่วัด เป็นลูกศิษย์วัด คอยปรนนิบัติรับใช้พระภิกษุสงฆ์ และเมื่อมีอายุพอสมควร ก็จะบรรพชาเป็นสามเณร และเรียนธรรมชั้นสูงขึ้นไป ครั้นพออายุครบ ก็จะอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ทำให้เด็กชายส่วนใหญ่อ่านออกเขียนได้ มีความรู้ทางศีลธรรม จริยธรรม และหลักธรรมในทางพุทธศาสนา ถือเป็นเกียรติของตนและครอบครัว และยังเป็นที่ยอมรับ ยกย่องของสังคม ซึ่งสมัยก่อนจะถือว่า คนที่บวชเรียนแล้วเป็น “คนสุก” คือ ผ่านการอบรมบ่มนิสัยมาแล้ว และจะเรียกคำนำหน้าผู้ที่สึกจากพระว่า “ทิด” เช่น ทิดขาว เป็นต้น
  • ปัจจุบัน มีหนังและละครนำเรื่องราวเกี่ยวกับวัดมาสร้างเป็นหนังและภาพยนต์ ละคร จำนวนมาก ทำให้ผู้คนรู้จักชีวิตของเด็กวัดมากขึ้น แต่บทบาทในฐานะเด็กวัดก็มักจะได้รับการดูแคลนจาก สังคมมาตลอด โดยเฉพาะสังคมชนชั้นที่ยึดติดเรื่องทิฎฐิ มานะ ถือตัว ว่าเด็กวัดก็คือผู้ที่ไร้โอกาส ยากจน ต่ำต้อย ไร้การศึกษา ด้วยเหตุผลนานาต่างๆ ถึงจำต้องไปอยู่อาศัยวัด
  •  แต่หากมองอีกมุมหนึ่งจะเห็นว่า เด็กวัดส่วนใหญ่จำนวนมากตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน จะได้ดิบได้ดีมีการศึกษา ไต่เต้าเป็นผู้นำในทุกสาขาอาชีพ เป็นผู้นำประเทศก็มากโขทีเดียว ดังนั้น กรณีของ คุณอัญชลี อาจารย์สอนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่แสดงพฤติการณ์ออกมาเป็นที่ประจักษ์ ก็บ่งชี้ให้เห็นว่า ชนชั้นในสังคมที่ยึดติดว่ามีการศึกษาสูง มีฐานะดี แล้วดูถูก หรือมองเด็กวัดว่าต่ำต้อยก็ยังมีอยู่ ฉะนั้น เรื่องจริงที่ไม่ใช่มีแต่ในละคร หรือภาพยนต์เท่านั้น  ประเด็นคือ เป็นพฤติกรรมที่คับแคบ บ่งบอกถึงจิตใจที่โสโมม ในเรื่องความไม่เท่าเทียมกัน
  • อยากให้ทุกท่านเปลี่ยนมุมมองเสียใหม่ว่า คนเราทุกคนมีความเท่าเทียมกัน เสมอกันด้วยความเป็นมนุษย์ จะยากจน ร่ำรวย มีการศึกษา หรือไม่มีการศึกษา ก็เท่าเทียมกันในฐานะเป็นมนุษย์ เมื่อมีการดูถูกดูแคลนเด็กวัดเช่นนี้ก็ทำให้นึกถึงพระบาลีที่ว่า "นะ  ชัจจจา  วะสะโล  โหติ.  นะ  ชัจจา  โหติ  พราหมะโน กัมมุนา  วะสะโล  โหติ.  กัมมุนา  โหติ  พราหมะโน " แปลว่า คนเราไม่ได้เป็นคนดีหรือเลวเพราะชาติกำเนิด แต่จะเป็นคนดีหรือเลวอยู่ที่การกระทำ " ตรงนี้ชัดเจนเลย จะมีการศึกษาสูงเทียมฟ้า ปริญญามากมายยาวต่อกันตั้งแต่สนามหลวง ไปจนถึงสุดขอบจักรวาล แต่พฤติกรรมต่ำเตี้ยเฉกเช่นยอดหญ้า ด้วยการดูถูกดูแคลนผู้อื่น การมีปริญญาก็ไม่ได้เพิ่มความเป็นผู้รู้ได้เลย 
  • ทำให้นึกถึงเด็กวัด หรือบุคคลผู้เคยอยู่วัดทั้งหลายในอดีต ที่ได้เข้ามาพึ่งพิงวัด และสึกขาลาเพศออกไปเรียนต่อ ได้ดิบได้ดีก็เยอะแยะไปหมด คนเหล่านี้ก็ช่วยพัฒนาประเทศชาติ พัฒนาสังคม ที่พอจำได้ก็เช่น ศาสตราจารย์ ดร.อุทิศ ศิริวรรณ อดีตสามเณรนาคหลวง ป.ธ. 9 แต่งตำรามากมาย เป็นนักคิด นักเขียน เป็นอาจารย์ สารพัดเป็น คนเรียนบาลีรุ่นเก่าจะรู้จักดี เป็นอดีตเด็กวัด เคยอยู่วัดมาก่อน เจริญเติบโตในหน้าที่การงาน จบ ดร.เมืองนอก, คุณชวน หลีกภัย อดีตนายก ก็อดีตเด็กวัด, คุณประจวบ ไชยสาส์น ก็อดีตเด็กวัด เป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ, ดร. ปฐมพงษ์ โพธิ์ประสิทธินันท์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อดีตเด็กวัด จบป.ธ.9 จบ ดร.ที่มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด ประเทศอังกฤษ, รศ.ดร.วิศิษฏ์ ประทุมวรรณ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนดลยีปทุมวัน ตามประวัติเคยเป็นเด็กวัดชลประทานฯรุ่นแรก พ.ศ.๒๕๐๓-๒๕๐๙ ,หรือแม้แต่เดอะ สตาร์ อดีตเด็กวัด “กัน” นภัทร อินทร์ใจเอื้อ ก็เจริญเติบโตมาจากวัด ฯลฯ
  •  เราก็จะเห็นว่าตัวอย่างที่กล่าวถึงการเป็นเด็กวัด หรือผู้เคยผ่านการอยู่วัดมาก่อน ซึ่งในสังคมไทยมีจำนวนมาก แม้แต่ประธาน คสช., นายกรัฐมนตรีไทย คนปัจจุบัน คือ พล.เอก.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามประวัติก็จบการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนวัดนวลนรดิศ ก็คือจากโรงเรียนวัด ก็กล่าวได้ว่า ก็หนีไม่พ้นคำว่าเป็นเด็กวัดเช่นกัน คำว่าเด็กวัดก็ไม่ใช่คำที่น่ารังเกียจ ความน่ารังเกียจอยู่ที่การกระทำของแต่ละบุคคล ประเด็นนี้น่าจะเป็นประเด็นใหญ่และสำคัญที่สุด เหมือนกับบาลีพุทธพจน์ที่ " นะ  ชัจจจา  วะสะโล  โหติ.  นะ  ชัจจา  โหติ  พราหมะโน กัมมุนา  วะสะโล  โหติ.  กัมมุนา  โหติ  พราหมะโน " แปลว่า คนเราไม่ได้เป็นคนดีหรือเลวเพราะชาติกำเนิด แต่จะเป็นคนดีหรือเลวอยู่ที่การกระทำ "  จะเด็กวัดไม่เด็กวัดไม่ใช่ประเด็น ประเด็นคือ เป็นครูบาอาจารย์สอนหนังสือในมหาวิทยาลัย มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย จะได้รับการเคารพนับถือ ก็ไม่ควรจะรังเกียจที่มาของแต่ละคน หน้าที่ครูบาอาจารย์คือสอน แต่ไปตั้งข้อรังเกียจ ลูกศิษย์ลูกหา ก็เป็นปัญหาทำให้ผู้เรียนไม่สบายใจ 
  • น่าจะสรุปได้ว่า คนเราแม้จะมีความรู้มากมาย ก็ไม่ควรมีมานะ ทรนงในตนเองว่าสูงส่งกว่าผู้อื่น เพราะนั่นคือมานะ  มานะนั้นแปลว่า "ความถือตัว" ความถือตัวสำคัญตน มีความหมายถึงอัตตาเป็นตัณหาตัวหนึ่งที่เราต้องศึกษา ในตัวเองให้มาก ๆ มานะมี 9 ประเภทคือ1. ผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตนว่าเลิศกว่าเขา 2. ผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตนว่าเสมอเขา 3. ผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตนว่าเลวกว่าเขา 4. ผู้เสมอเขา สำคัญตนว่าเลิศกว่าเขา 5. ผู้เสมอเขา สำคัญตนว่าเสมอเขา 6. ผู้เสมอเขา สำคัญตนว่าเลวกว่าเขา 7. ผู้เลวกว่าเขา สำคัญตนว่าเลิศกว่าเขา 8. ผู้เลวกว่าเขา สำคัญตนว่าเสมอเขา 9. ผู้เลวกว่าเขา สำคัญตนว่าเลวกว่าเขาส่วนว่าจะจัดเข้าข้อไหนก็พิจารณากันเอา ตามความคิดแต่ละคน แต่รวมๆ ก็คือมานะไม่ใช่สิ่งดีที่จะมี 
  • การมองเด็กวัดในแง่ดี เป็นสิ่งที่ทุกคนควรจะมองเช่นนี้ การเป็นเด็กวัดไม่ใช่สิ่งที่ควรตั้งข้อรังเกียจ บุคคลมากมายเป็นผู้นำทางสังคม เป็นอาจารย์ เป็นผู้หลักผู้ใหญ่เจริญหน้าที่การงานก็ล้วนเคยผ่านการเป็นเด็กวัด เรียนโรงเรียนวัด หรือผ่านการบวชเป็นสามเณร หรือพระภิกษุมาก่อน การอยู่วัดมีข้อดีหลายประการ เช่น ฝึกความอดทน ได้เรียนรู้หลักธรรมจากครูบาอาจารย์ คุณธรรมที่สำคัญที่เด็กวัดต้องได้รับการอบรมตลอดเวลา คือ ความกตัญญู ฉะนั้น เด็กวัดเกือบทุกคน เมื่อออกไปใช้ชีวิตข้างนอก ก็เจริญในชีวิตทุกคน สำคัญคืออย่างแบ่งชั้นชั้นทางสังคม ด้วยฐานะ ความรู้ กับคำว่าเป็นเด็กวัดเลย เพราะนั่นเป็นเครื่องบ่งบอกถึงการศึกษาของตนเอง  ดังคำที่นักปราชญ์กลา่วไว้ว่า "การพูดจาดูถูก หรือเหยียดหยามคนอื่นนั้น ถือเป็นสิ่งที่ไม่ดี และไม่ควรปฏิบัติเอาเสียเลย เพราะเป็นนิสัยที่ผู้ที่มีการศึกษาหรือปัญญาชนเค้าไม่นิยมทำกัน"


ข่าวกระปุก : http://education.kapook.com/view97793.html
เอก ศุภากร เด็กวัดร้อยล้าน :http://teen.mthai.com/the_boy/70298.htmlhttp://www.youtube.com/watch?v=qWqXsesaM_U
กัน นภัทร อินทร์ เดอร์สตาร์ เด็กวัด :http://www.manager.co.th/Dhamma/ViewNews.aspx?NewsID=9560000066927

ไม่มีความคิดเห็น

รูปภาพธีมโดย RASimon. ขับเคลื่อนโดย Blogger.