Header Ads

Header ADS

มาช่วยกันสร้างวัดเถรวาทแห่งแรกในเมืองอ๊อกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษกันเถอะ .. โดย ดร. ปฐมพงษ์ โพธิ์ประสิทธินันท์ คณะสังคมศาสตร์ ม.มหิดล

มาช่วยกันสร้างวัดเถรวาทแห่งแรกในเมืองอ๊อกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษกันเถอะ .. (บทความปี 2548) 
บทความโดย ดร. ปฐมพงษ์ โพธิ์ประสิทธินันท์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


วัดอ๊อกซฟอร์ดพุทธวิหารที่ว่านี้เพิ่งสร้างได้ไม่นาน ผู้สร้างคือท่านพระคำหมาย ธัมมสามี ซึ่งเป็นพระไทยใหญ่ บวชในคณะสงฆ์รามัญนิกายจากประเทศพม่า ท่านเรียนจบหลักสูตรเป็นธัมมาจริยะตั้งแต่เป็นสามเณรจากพม่าแล้วไปจบปริญญาโทที่ศรีลังกาหลายใบ จากนั้นก็ไปเรียนต่อด้านพระพุทธศาสนาที่สถาบันตะวันออกของมหา วิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดรุ่นหลังผมราวสองปี และก็บังเอิญว่าท่านมาอยู่วิทยาลัยเดียวกันกับผม หนำซ้ำในช่วงแรกๆ ที่ท่านเข้าเรียนยังพักในหอพักเดียวกันกับผมอีกด้วยสมัยที่หลวงพี่คำหมายเพิ่งเข้าไปเรียนอ๊อกซฟอร์ดใหม่ๆ ผมกลัวว่าท่านจะอยู่ในเมืองอ๊อกซฟอร์ดอย่างลำบากเพราะชาวพุทธยังน้อยอยู่ นักเรียนไทยก็ยังไม่รู้จักท่าน ผมก็เขียนอีเมล์ติดต่อไปยังนักเรียนไทยท่านอื่นๆ แนะนำให้ได้รู้จักท่าน ถ้ามีเวลาว่าง ผมก็จะชักชวนเพื่อนนักเรียนไทยมาทำอาหารเพลถวายท่าน จนปัจจุบันนี้ นักเรียนไทยที่กำลังศึกษาอยู่ในอ๊อกซฟอร์ดได้รู้จักท่านเป็นอันดี มีจำนวนมากที่แวะเวียนไปมาหาสู่ท่านที่วัดท่านก่อสร้างขึ้นเป็นประจำ             




สมัยที่ผมเรียนอยู่ผมสังเกตเห็นว่ามีทั้งนักศึกษาและชาวบ้านทั่วไปแวะะเวียนมาหาท่านที่หอพักสม่ำเสมอ บ้างก็มาสนทนาธรรม บ้างก็มาเรียนรู้วิธีฝึกสมาธิ บางทีก็มากันจากต่างเมืองไกลๆ บางทีท่านคำหมายได้รับนิมนต์ให้ไปเทศน์สอนนักเรียน ก็มีนักเรียนแวะเวียนมาหาเป็นกลุ่ม ท่านคำหมายก็ปรารภให้ผมฟังว่าถ้ามีวัดสักแห่งในเมือง อ๊อกซฟอร์ดก็จะช่วยพระพุทธศาสนาได้มากเพราะทฤษฎีการฝึกสมาธินั้นฝรั่งได้เรียนรู้จากตำรับตำราภาษาบาลีและถ่ายทอดเป็นภาษายุโรปมามากพอหลายทศวรรษแล้ว ยังขาดแต่สถานที่ปฏิบัติธรรมและครูอาจารย์ที่ชำนาญทางสมถะและวิปัสสนาซึ่งจะมาช่วยชี้แนะเท่านั้น บังเอิญว่าระหว่างที่ผมอยู่ที่อังกฤษชาวพุทธอังกฤษจำนวนมาก ได้ติดต่อขอให้หลวงพ่อพระเดชพระคุณพระเทพญาณวิสิษฏ์ แห่งวัดพระรามเก้ากาญจนาภิเษกช่วยสร้างพระพุทธรูปเพื่อนำไปประดิษฐสถานยังพุทธศาสนสถานหลายแห่งในสหราชอาณาจักรท่านจึงได้เดินทางไปดูกิจการพระศาสนาในสหราชอาณาจักร พร้อมกันนั้น ก็นำพระพุทธรูปไปด้วย พระเดชพระคุณท่านได้มองเห็นกระแสความต้องการของประชาชนที่นั่นจึงได้ช่วยอุปถัมภ์ผ้าป่านี้ด้วย               


และในวันที่ 30 มิถุนายน 2548 หลังพิธีทอดผ้าป่าที่วัดบวรนิเวศวิหารไม่กี่วัน พระเดชพระคุณพระเทพญาณวิสิษฏ์ก็จะนำพระพุทธรูปจำนวน 6 องค์เดินทางไปยังสหราชอาณาจักร คราวนี้ ชาวอังกฤษได้ส่งตัวแทนมาอุปสมบทที่วัดพระรามเก้ากาญจนาภิเษกในวันอังคารที่ 21 มิถุนายน 2548 เพื่อนำพระพุทธรูปไปเกาะอังกฤษโดยเฉพาะ ผมทราบจากพระเดชพระคุณพระศรีญาณโสภณ พระนักทำงานสร้างศาสนทายาทที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในนามปากกา ‘ปิยโสภณ’ แห่งวัดพระรามเก้ากาญจนาภิเษกว่าบัดนี้ พระพุทธรูปได้สร้างเสร็จแล้วและพร้อมที่จะขนส่งไปยังประเทศอังกฤษ             


ส่วนพระเดชพระคุณพระพรหมมุนีนั้นท่านเป็นแม่กองธรรมสนามหลวง หลายปีมานี้ท่านรับรู้ข้อมูลความเคลื่อนไหวของชาวพุทธในต่างประเทศอยู่บ่อยครั้ง ด้วยท่านเป็นแม่กองธรรมสนามหลวง ต้องจัดส่งพระสงฆ์ไทยไปต่างประเทศเพื่อจัดสอบธรรมสนามหลวงสม่ำเสมอ ไม่นานมานี้ ท่านก็เพิ่งเดินทางกลับจากไปดูกิจการพระศาสนาในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อทราบว่าวัดอ๊อกซฟอร์ดพุทธวิหารเพิ่งเริ่มตั้ง ท่านก็ยินดีสนับสนุนและรับเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ส่วนประธานฝ่ายฆราวาสคือคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่จริงแล้ว ผมไม่เคยรู้จักคุณอภิสิทธิ์เป็นส่วนตัว แต่ผมมาทราบทีหลังจากพระคุณเจ้าในวัดพระรามเก้ากาญจนาภิเษกว่าครอบครัวคุณอภิสิทธิ์นับเป็นครอบครัวชาวพุทธที่ดีครอบครัวหนึ่ง โดยเฉพาะคุณแม่ท่านคือท่านศ.พญ.สดใส เวชชาชีวะนั้นเป็นอุบาสิกาประจำวัดพระรามเก้ากาญจนาภิเษกและมีความรอบรู้ในธรรมะมาก ทุกวันนี้ นอกจากจะปฏิบัติธรรมเป็นส่วนตัว ท่านก็ยังจัดรายการวิทยุเผยแผ่พระพุทธศาสนาอีกด้วย ในระหว่างที่มีการบอกต่อๆ กันไปถึงพิธีผ้าป่าดังกล่าว บรรดาพุทธศาสนิกชนหลายท่านก็ปรารภผ่านผมว่าไม่เคยรู้เลยว่าเมืองอ๊อกซฟอร์ดเป็นอย่างไร? สถานการณ์พระพุทธศาสนาที่นั่นเป็นอย่างไร? เหตุใดต้องสร้างวัดที่นั่น? อยากให้สัมภาษณ์คุณอภิสิทธิ์และท่านพระคำหมาย ธัมมสามี ปลายเดือนที่แล้ว ผมจึงอาราธนานิมนต์ท่านพระคำหมายซึ่งได้รับอาราธนานิมนต์ให้มาร่วมงานวิสาขบูชาที่พุทธมณฑลพอดีไปยังที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ ใกล้สถานีรถไฟสามเสน ผมขอสัมภาษณ์ทั้งท่านพระคำหมายและคุณอภิสิทธิ์สั้นๆ บทสัมภาษณ์นั้นตอนนี้เจ้าหน้าที่วัดพระรามเก้าฯ กำลังตัดต่ออยู่ เสร็จเมื่อใดก็คงมีแจกท่านพุทธศาสนิกชนทั่วไปในรูปวีซีดี              


ท่านพระคำหมายท่านเล่ารายละเอียดว่าการสร้างวัดดังกล่าวนี้ ได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากท่านศ.ดร.ริชาร์ด กอมบริช ซึ่งเป็นอาจารย์สอนพระพุทธศาสนาที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ปัจจุบันนี้ แม้ท่านจะเกษียณอายุราชการแล้ว แต่ก็ยังก่อตั้งศูนย์พุทธศาสน์ศึกษาประจำอ๊อกซฟอร์ด (Oxford Centre for Buddhist Studies) เพื่อค้นคว้าวิจัยทางพระพุทธศาสนาในทุกๆ ด้าน ที่จริง ท่านศาสตราจารย์ผู้นี้ก็เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาผมด้วย ระหว่างเรียนหนังสืออยู่ ท่านเคยปรารภให้ฟังบ่อยว่าทุกวันนี้ คัมภีร์พระพุทธศาสนามีอยู่มากมายหลายคัมภีร์ ทั้งบาลี ทั้งสันสกฤต ทั้งจีน ทั้งทิเบต สำนวนแปลก็หลากหลาย มีทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน สเปน ฯลฯ ทุกวันนี้ มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่มักจะเน้นสอนคัมภีร์พระพุทธศาสนาซึ่งบันทึกด้วยภาษาใดภาษาหนึ่ง เช่น ถ้าไม่สอนเฉพาะบาลีก็สันสกฤต หาไม่ก็ภาษาทิเบตหรือภาษาจีน ต่างคนก็ต่างชำนาญเนื้อหาทางพระพุทธศาสนาไปคนละแนว ในเวลาเดียวกัน ก็มีพวกนักตีความซึ่งรู้จักพระพุทธศาสนเพียงผิวเผิน ใช้ความรู้ทางพระพุทธศาสนากึ่งดิบกึ่งดีอธิบายความไปตามอัติโนมัติจนคนเข้าใจเนื้อหาคำสอนของพระพุทธเจ้าผิดไปมากต่อมากแล้ว ท่านอยากให้มีนักวิชาการทางศาสนาระดับหัวกะทิทุกๆ ด้านมาทำงานกันครบทีมที่อ๊อกซฟอร์ด กล่าวคือมีทั้งคนชำนาญทางภาษาบาลีและสันสกฤต, พระไตรปิฎกภาษาจีน, พระไตรปิฎกภาษาทิเบต, ผู้ชำนาญทางโบราณคดีและพุทธศิลป์ ฯลฯ มาอยู่ด้วยกันพร้อมหน้า เมื่อค้นคว้าวิจัยเรื่องใดแล้วติดขัดขึ้นมาจะได้ช่วยกันอธิบายเพื่อให้เกิดความกระจ่าง หมายความว่ามองเห็นภาพรวมได้หมด ถ้าแผนการพัฒนาพุทธศาสน์ศึกษาของท่านไปถึงขนาดนั้นจริง อ๊อกซฟอร์ดก็จะกลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาทางพระพุทธศาสนาที่ใหญ่ที่สุดของโลก รับนักศึกษาได้ปีละมากๆ              


สิ่งที่ท่านศาสตราจารย์กอมบริชอยากเห็นประการหนึ่งก็คือการมีวัดหรือสถานที่ปฏิบัติธรรมไว้รองรับผู้สนใจวิถีชีวิตแบบพุทธควบคู่ไปกับการพัฒนาวิชาการในมหาวิทยาลัย ต่อไปถ้ามีการศึกษาทางพระพุทธศาสนามากขึ้น คนก็จะเข้าวัดไปแสวงหาความรู้ในด้านการปฏิบัติมากขึ้นด้วย ข้อจำกัดก็คือมหาวิทยาลัยให้ความรู้ได้แต่เพียงทฤษฎีเท่านั้น เหตุนี้ท่านศาสตราจารย์ผู้นี้จึงสนับสนุนให้ท่านคำหมายสร้างวัดเป็นกรณีพิเศษ และยังอาราธนานิมนต์ท่านคำหมายเป็นกรรม การประจำศูนย์พุทธศาสน์ศึกษาที่ท่านบุกเบิกตั้งขึ้นใหม่ในอ๊อกซฟอร์ดอีกด้วย              



ดังนั้นการสร้างวัดขึ้นในอ๊อกซฟอร์ดในครั้งนี้ จึงสำคัญต่อพระพุทธศาสนามาก เป็นก้าวย่างที่สำคัญที่จะทำให้พระพุทธศาสนาเป็นที่รู้จักและยอมรับกันอย่างแพร่หลายในยุโรป พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่เน้นให้ทำลายศัตรูภายในของมนุษย์เองคือกิเลสที่มีอยู่ในใจ ไม่ได้สอนให้ไปเอาชนะใครทางกายภาพ ยิ่งนับถือพระพุทธศาสนาก็ยิ่งมองเห็นว่ากิเลสในตนนั่นเองคือศัตรูที่แท้จริง เพราะฉะนั้น ที่ใดที่พระพุทธศาสนาไปถึงและได้รับการยอมรับนับไปปฏิบัติอย่างจริงจัง ที่นั่นก็จะมีแต่สันติสุขและอหิงสา ไม่มีการเบียดเบียฬกันและกัน ที่ใดมีแต่ข่าวว่าผู้คนเบียดเบียฬกันและกัน ปรากฎตามหน้าหนังสือพิมพ์สม่ำเสมอก็แปลว่าการอบรมสั่งสอนกันในหลักพระพุทธศาสนายังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอนั่นเอง เดิมทีอ๊อกซฟอร์ดดูจะหาคนสนใจพระพุทธศาสนาไม่ได้เลย ความสนใจพระพุทธศาสนามันเริ่มมาจาก วรรณคดีสันสกฤตเสียก่อน สมัยก่อนนั้น เคยมีข้าหลวงชาวอังกฤษซึ่งเรียนจบไปจากอ๊อกซฟอร์ดคนหนึ่งชื่อว่าวิลเลี่ยม โจนส์ไปอยู่ที่อินเดียแล้วก็สังเกตพบว่าภาษาสันสกฤตคล้ายคลึงกับภาษาในตระกูลอินโดยุโรปมาก พอท่านปาฐกถาเสร็จก็มีนักปราชญ์ทางภาษาจากยุโรปหลายประเทศเดินทางไปอินเดียเพื่อหาทางศึกษาภาษาสันสกฤต              


สมัยนั้น อังกฤษปกครองอินเดียได้อย่างยากลำบากเพราะไม่เข้าใจวัฒนธรรมพื้นบ้าน ในที่สุด พวกฝรั่งก็มารู้กันว่าอันว่าวัฒนธรรมประเพณีของชาวอินเดียนั้นก็ล้วนแล้วแต่มาจากวรรณคดีสันสกฤตทั้งสิ้น ถ้ามีคนรู้วรรณคดีสันสกฤตลึกซึ้งก็จะสามารถปกครองคนอินเดียได้อย่างราบรื่น เหตุผลนี้เองทำให้มีนายทหารคนหนึ่งชื่อว่าโจเสป โบเดน ได้บริจาคเงินจำนวนมากให้มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดเพื่อตั้งตำแหน่งศาสตราจารย์ทางภาษาสันสกฤตใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า“BodenProfessorship of Sanskrit” แล้วประกาศให้นักสันสกฤตมาสอบแข่งขันเพื่อดำรงตำแหน่งนี้ ใครได้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์โบเดน ก็จะมีเงินเดือนกินอย่างมีเกียรติไปตลอด หลังจากนายพลโบเดนตั้งตำแหน่งศาสตราจารย์ขึ้นมา ก็มีการคัดนักสันสกฤตหัวกะทิดังๆ หลายคนมาเป็นศาสตราจารย์ เช่น วิลสัน,โมเนียร์ วิลเลียม,โธมัส,แมกโดเนลด์,เบอโรว์,จอห์นสตัน จนกระทั่งถึงศาสตราจารย์ ดร.ริชาร์ด กอมบริชซึ่งเพิ่งเกษียณอายุไปได้ไม่นาน ศาสตราจารย์เหล่านี้ล้วนแต่เป็นปราชญ์ระดับดาราของโลกทั้งนั้น ตำรับตำราที่พวกนี้เขียนปัจจุบันก็ยังใช้อ้างอิงกันไปทั่วโลก บางท่านก็เป็นนักพจนานุกรมสันสกฤต ซึ่งนักเรียนสันสกฤตจะขาดเสียมิได้เลย เมื่อผมเข้าเรียนปริญญาเอกใหม่ๆ รุ่นพี่ก็จะแนะให้ลุยอ่านงานท่านเหล่านี้เป็นฐาน เมื่อครูสอนเอ่ยถึงงานเล่มไหนแล้วจะได้รู้ทันเพราะยามเรียนแล้วก็ไปเร็วเป็นจรวด             


ในช่วงแรกๆ นั้น พระพุทธศาสนานั้นยังไม่มีใครสนใจเอาเลย เคยมีนักนิรุกติศาสตร์เปรียบเทียบคนหนึ่งชื่อว่าแมกส์ มึลเล่อร์ พยายามพิมพ์ตำรับตำราทางพระพุทธศาสนา และก็เป็นผู้บุกเบิกก่อตั้งวิชาศาสนาเปรียบเทียบ แต่ก็ไม่ได้เน้นวิชาพระพุทธศาสนาเป็นการเฉพาะ คงมีแต่กล่าวถึงผ่านๆ ในชั้นเรียนในแนวเปรียบเทียบเท่านั้น ข้อดีก็คือนักวิชาการศาสนาเปรียบเทียบสมัยนั้นหันมาเน้นตัวภาษาในคัมภีร์เพื่อกรุยทางสู่คำสอนของพระพุทธเจ้า การตีความคำสอนของพระพุทธเจ้าจึงเป็นไปอย่างระมัดระวังพอสมควร              


ประวัติศาสตร์การหันมาเน้นวิชาพระพุทธศาสนาเถรวาท ในมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดเริ่มต้นเมื่อศาสตราจารย์ ดร.ริชาร์ด กอมบริช ซึ่งมาดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์โบเดนประมาณ พ.ศ. 2520 ท่านผู้นี้ได้รับยกย่องในหมู่นักวิชาการทางพระพุทธศาสนาด้วยกันว่ามีสติปัญญาระดับอัจฉริยะคนหนึ่ง ระหว่างศึกษาปริญญาเอกที่อ๊อกซฟอร์ดท่านสนใจพระพุทธศาสนาเถรวาท จนถึงลงทุนไปอยู่ประเทศศรีลังการะหว่างทำวิทยานิพนธ์หลายปี หลังจากสำเร็จการศึกษาและมาปักหลักสอนหนังสืออยู่ที่อ๊อกซฟอร์ด ท่านก็เปิดสอนวิชาพระพุทธศาสนาและพระไตรปิฎกบาลี ท่านศาสตราจารย์ผู้นี้ทุ่มเทให้พระพุทธศาสนามาก โดยปรกติ คนไม่ได้จ่ายสตางค์ลงทะเบียนเรียนจะไม่มีสิทธิ์เข้าฟังบรรยายในมหาวิทยาลัย แต่ยามใดที่ท่านศาสตราจารย์ผู้นี้เปิดสอนภาษาบาลี ท่านอนุญาตให้ใครต่อใครที่สนใจพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดามาร่วมฟังบรรยายด้วย ลูกศิษย์ท่านบางคนที่ปักหลักอยู่ในอ๊อกซฟอร์ดจึงสามารถแปลภาษาบาลีได้โดยที่ไม่ได้ลงทะเบียนเรียนอะไรด้วยซ้ำ ผมอยู่ในเมืองอ๊อกซฟอร์ดโดยรวมแล้วประมาณ 5 ปี ปีแรกที่ผมไปอยู่คนเป็นชาวพุทธยังมีน้อยมาก ผมเคยได้รับเชิญให้ไปปาฐกถาให้สมาชิกชมรมพุทธศาสน์ในเมืองอ๊อกซฟอร์ดฟังสองสามครั้ง ผู้ฟังส่วนใหญ่จะเป็นพวกนักวิชาการ ชาวบ้านธรรมดาซึ่งเป็นชาวพุทธจะพากันไปทำบุญที่ลอนดอนหรือเบอร์มิงแฮมเสียมากกว่า การเกาะกลุ่มกันยังไม่กว้างขวางพอ บางทีก็มีชาวพุทธกลุ่มเล็กๆ เกาะกลุ่มกันเวียนเทียนตามบ้านเนื่องในวันวิสาขบูชา เสร็จจากพิธีเวียนเทียนก็ทำอาหารรับประทานกันแล้วก็นั่งสนทนาธรรม              


สถานการณ์ศาสนาอื่นๆ ในเมืองอ๊อกซฟอร์ดก็ค่อนข้างจะซบเซา มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดมีโบสถ์คริสต์ ประจำวิทยาลัยต่างๆ เกือบ 40 แห่ง แต่ในจำนวนโบสถ์เหล่านี้ มีไม่ถึงสิบแห่งที่เปิดให้มีคนเข้าไปทำพิธี เพราะจำนวนคนใกล้ชิดศาสนาคริสต์ในปัจจุบันมีน้อยมาก สถิติทางการออกมาไม่นานนี้บอกว่าในจำนวนผู้ที่ระบุในสัมมะโนครัวว่านับถือศาสนาคริสต์ทั้งหมดในอังกฤษนั้น มีไม่ถึงยี่สิบเปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำที่จะเข้าโบสถ์เป็นประจำ ถึงแม้ว่าในมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดจะมีวิทยาลัยบางแห่ง เช่น แคมเปี้ยน ฮอลล์ ที่นักบวชยังมีอยู่หลายคน แต่ผมเคยได้รับเชิญให้ไปร่วมรับประทานอาหารที่วิทยาลัยนี้ก็ได้รับทราบจากสนทนาว่าบาทหลวงระดับต่างๆ กำลังวิตกกังวลกันมากในเรื่องที่ผู้มีศรัทธาในพระคริสต์กำลังลดลงอย่างฮวบฮาบ หนุ่มสาวที่เข้ามาโบสถ์ระยะหลังมักเป็นพวกประสบปัญหาชีวิตและได้สนทนากับบาทหลวงจากสายตรงฮอตไลน์               


แต่พอท่านพระดร.คำหมาย ธัมมสามีไปปักหลักอยู่อ๊อกซฟอร์ด ท่านก็ได้รับนิมนต์ให้ไปสอนนักเรียนตามโรงเรียนต่างๆ ในอ๊อกซฟอร์ดถี่ขึ้น, ได้รับนิมนต์ให้ไปสอนสมาธิแก่ชุมชนต่างๆ หลายแห่งและในเวลาเดียวกัน ชาวบ้านก็รบเร้าให้ท่านเปิดสอนสมาธิภาวนาภายในวัด พอรู้ว่าท่านคำหมายปักหลักสร้างวัดอ๊อกซฟอร์ดพุทธวิหารขึ้นในอ๊อกซฟอร์ด คนเอเซียที่นับถือพระพุทธศาสนาที่อยู่คนละที่ในเมืองอ๊อกซฟอร์ดก็ทะยอยไปกราบท่าน จากที่นานๆ ไปทีก็ไปประจำ แม้ฝรั่งที่นับถือพระพุทธศาสนาก็มีภารกิจประจำอาทิตย์ที่ต้องไปสวดมนต์ภาวนาที่วัดเหมือนกัน สถานการณ์ทางพระพุทธศาสนาที่เคยดูเงียบเหงาก็เริ่มคึกคักขึ้น              


ประการสำคัญซึ่งบอกต่อๆ กันไปในหมู่สังคมฝรั่งไม่มีสิ้นสุด ก็คือพระพุทธศาสนาสอนให้ลูกเชื่อฟังพ่อแม่ และอยู่ในโอวาท เด็กๆ ที่เข้าวัดเข้าวาฟังเทศน์ฟังธรรมจะกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ในขณะที่เด็กๆ ฝรั่งทั่วไปจะอยู่อย่างสุรุ่ยสุร่ายตามวิถีทางแบบทุนนิยม แล้วในที่สุด ครอบครัวก็จะแตกมากขึ้นตามมา ยามใดที่เกิดความไม่สบายใจหรือเครียดขึ้นมา พระสงฆ์ท่านก็สอนให้ฝึกสมาธิ สอนวิปัสสนาให้รู้จักปล่อยวาง จนในที่สุด จากที่เคยกระวนกระวายใจหาความสุขใจไม่ได้ก็มามีสุขอันเกิดจากใจสงบ สิ่งเหล่านี้ฝรั่งสามารถฝึกปฏิบัติจนมีประสบการณ์ได้ด้วยตนเองจนเป็นเรื่องปรกติธรรมดาไปเสียแล้ว เมื่อมีวัดให้ใช้ปฏิบัติธรรม ในเวลาเดียวกัน สถาบันการศึกษาคือมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดก็มีส่วนสำคัญ ในการกระตุ้นให้ผู้ศึกษาเชื่อมโยงทฤษฎี(วิชาการ) ไปหาการปฏิบัติ ปริยัติและปฏิบัติก็จะไปควบคู่กัน เมื่อการปฏิบัติมีปริยัติหนุนหลังอย่างเข้มแข็ง โอกาสจะสร้างปัญญาชนชาวพุทธฝรั่งพันธุ์ใหม่ที่รู้แท้ถึงแก่นของพระพุทธศาสนาก็เป็นไปได้ง่าย เมื่อคนรู้พระพุทธศาสนามีมาก คนเผยแผ่ก็มาก เมื่อคนเผยแผ่มาก คนนับถือก็จะมากตาม              


ผมจึงขออนุญาตฟันธงว่าภายในระยะเวลาสิบปีครับ เมืองอ๊อกซฟอร์ดจะเป็นเมืองพุทธ แต่มีเงื่อนไขว่า เราต้องมาช่วยกันสนับสนุนวัดให้ตั้งตัวเองอย่างมั่นคงเสียก่อนนะครับ เพื่อต่อไป คนอังกฤษจะได้ออกบวชเรียนและเผยแผ่พระพุทธศาสนากันได้เองฯ”              


พุทธศาสนิกชนท่านใดประสงค์จะร่วมสร้างวัด แต่ไม่อาจไปร่วมงานผ้าป่าได้ก็ขอเชิญบริจาคตามกำลังศรัทธา โดยโอนเงินเข้าบัญชีประเภทสะสมทรัพย์ เลขที่ 247-0-546488 ธนาคารกรุงเทพฯ สาขาพุทธมณฑล ในชื่อบัญชี ‘วัดอ๊อกซฟอร์ดพุทธวิหาร (Oxford Buddha Vihara)’ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสร้างวัดโดยตรงได้ที่ โทร. 09-205-4964 

ที่มา : ผู้่จัดการออนไลน์

ดูภาพกิจกรรมวัด Oxford Buddha Vihara

ไม่มีความคิดเห็น

รูปภาพธีมโดย RASimon. ขับเคลื่อนโดย Blogger.