Header Ads

Header ADS

อหิเปรต : ผลแห่งกรรมทำลายสิ่งก่อสร้างถาวรวัตถุในพระพุทธศาสนา


  • เรื่องที่ ๑ เปรตงู : กรรมทำลายบรรณศาลาของพระปัจเจกพุทธเจ้า

ชื่นใจที่ได้ทำหน้าที่อธิบดีกรมศิลปากร ในการรื้อถอนวัดวาอาราม สิ่งปลูกสร้างในพระพุทธศาสนา สวรรค์หรือนรกที่รอนายบวรเวทอยู่ เดี๋ยวรู้ กรรมเวรมีจริงนะ จะบอกให้ !  การทุบทำลายเสนาสนะซึ่งเป็นของสงฆ์ในวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ถ้ายึดกฎหมายทางโลกก็สามารถทำได้ ไม่มีโทษหรือความผิดอะไรเลย เพราะฝ่ายกรมศิลปากรเป็นผู้ชนะคดีนี้ แต่เรามามองเรื่องทางธรรมกันบ้างดีกว่า ว่าผู้ที่เกี่ยวของและสั่งการให้ทุบทำลายของสงฆ์ พวกเขาเหล่านั้นจะได้รับผลกรรมเช่นไรในอนาคตอันใกล้นี้ ขอยกเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการทุบทำลายและเผาของสงฆ์ที่ปรากฎในพระไตรปิฎก อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท พาลวรรคที่ ๕ ว่า

ในวันหนึ่ง ท่านพระลักขณเถระ ภายในชฎิลพันหนึ่ง และท่านพระมหาโมคคัลลานเถระ ลงจากภูเขาคิชฌกูฏ ด้วยคิดว่า "เราจักเที่ยวบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์." บรรดาพระเถระ ๒ รูปนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะเห็นอหิเปรตตนหนึ่ง จึงได้กระทำการยิ้มแย้มให้ปรากฏ. 

ลำดับนั้น พระลักขณเถระถามเหตุกะพระเถระนั้นว่า "ผู้มีอายุ เพราะเหตุไร ท่านจึงทำการยิ้มแย้มให้ปรากฏ?" พระเถระตอบว่า "ผู้มีอายุ นี้ไม่ใช่กาลแล เพื่อวิสัชนาปัญหานี้, ท่านพึงถามผมในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด." เมื่อพระเถระทั้งสองนั้น เที่ยวบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ ไปสู่สำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า นั่งแล้ว, พระลักขณเถระถามว่า "ท่านโมคคัลลานะผู้มีอายุ ท่านลงจากภูเขาคิชฌกูฏ ทำการยิ้มแย้มให้ปรากฏ ผมถามถึงเหตุแห่งการยิ้มแย้ม ได้กล่าวว่า ‘ท่านพึงถามผมในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า’ บัดนี้ ท่านจงบอกเหตุนั้นเถิด."

พระเถระกล่าวว่า "ผู้มีอายุ ผมเห็นอหิเปรตตนหนึ่ง จึงได้ทำการยิ้มแย้มให้ปรากฏ, อัตภาพของเปรตนั้นเห็นปานนี้, ศีรษะของมันเหมือนศีรษะมนุษย์, อัตภาพที่เหลือของมัน เหมือนของงู, นั่นชื่ออหิเปรต โดยประมาณ ๒๕ โยชน์, เปลวไฟตั้งขึ้นจากศีรษะของมัน ลามไปจนถึงหาง, ตั้งขึ้นจากหางถึงศีรษะ ตั้งขึ้นในท่ามกลางลามไปถึงข้างทั้งสอง ตั้งขึ้นแต่ข้างทั้งสอง รวมลงในท่ามกลาง."

ลำดับนั้น พระศาสดาทรงเป็นพยานของพระเถระนั้น ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย โมคคัลลานะพูดจริง, ก็เราเห็นเปรตนั่นในวันบรรลุสัมโพธิญาณเหมือนกัน, แต่เราไม่กล่าว เพราะเอ็นดูคนอื่นว่า ‘ชนเหล่าใด ไม่เชื่อคำของเรา, ความไม่เชื่อนั้น พึงเป็นไปเพื่อสิ่งมิใช่ประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนเหล่านั้น.’" 
ภิกษุทั้งหลายฟังเรื่องนั้นแล้ว จึงทูลถามบุรพกรรมของเปรตนั้น. แม้พระศาสดา ก็ตรัสแก่ภิกษุเหล่านั้นว่า :- 

ได้ยินว่า ในอดีตกาล พวกชนอาศัยกรุงพาราณสี สร้างบรรณศาลาไว้เพื่อพระปัจเจกพุทธเจ้า ใกล้ฝั่งแม่น้ำ. พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นอยู่ในบรรณศาลานั้น ย่อมเที่ยวไปบิณฑบาตในเมืองเนืองนิตย์. แม้พวกชาวเมืองมีมือถือสักการะมีของหอมและดอกไม้เป็นต้น ไปสู่ที่บำรุงของพระปัจเจกพุทธเจ้า ทั้งเย็นทั้งเช้า.  บุรุษชาวกรุงพาราณสีคนหนึ่งอาศัยหนทางนั้นไถนา. มหาชน เมื่อไปสู่ที่บำรุงพระปัจเจกพุทธเจ้า ย่อมเหยียบย่ำนานั้นไปทั้งเย็นทั้งเช้า. ชาวนา แม้ห้ามอยู่ว่า "ขอพวกท่านอย่าเหยียบนาของข้าพเจ้า" ก็ไม่สามารถจะห้ามได้. 


ครั้งนั้น ชาวนานั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า "ถ้าบรรณศาลาของพระปัจเจกพุทธเจ้า ไม่พึงมีในที่นี้ไซร้, ชนทั้งหลายก็ไม่พึงเหยียบย่ำนาของเรา." ในกาลที่พระปัจเจกพุทธเจ้าเข้าไปบิณฑบาต ชาวนานั้นทุบภาชนะเครื่องใช้แล้วเผาบรรณศาลาเสีย.  พระปัจเจกพุทธเจ้าเห็นบรรณศาลานั้นถูกไฟไหม้ จึงหลีกไปตามสบาย. มหาชนถือของหอมและระเบียบดอกไม้มา เห็นบรรณาศาลาถูกไฟไหม้ จึงกล่าวว่า "พระผู้เป็นเจ้าของพวกเรา ไป ณ ที่ไหนหนอแล?" แม้ชาวนานั้น ก็มากับด้วยมหาชนเหมือนกัน ยืนอยู่ในท่ามกลางแห่งมหาชน พูดอย่างนี้ว่า "ข้าพเจ้าเองเผาบรรณศาลาของพระปัจเจกพุทธเจ้า." 

ครั้งนั้น ชนทั้งหลายพูดว่า "พวกท่านจงจับ, พวกเราอาศัยบุรุษชั่วนี้ จึงไม่ได้เพื่อจะเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า" ดังนี้แล้ว ก็โบยชาวนานั้นด้วยเครื่องประหาร มีท่อนไม้เป็นต้น ให้ถึงความสิ้นชีวิตแล้ว. ชาวนานั้นเกิดในอเวจี ไหม้ในนรกตราบเท่าแผ่นดินนี้ หนาขึ้นประมาณโยชน์หนึ่งแล้ว จึงเกิดเป็นอหิเปรตที่เขาคิชฌกูฏ ด้วยผลกรรมอันเหลือ."   

พระศาสดา ครั้นตรัสบุรพกรรมนี้ของอหิเปรตนั้นแล้ว จึงตรัสว่า  "ภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่าบาปกรรมนั้น เป็นเช่นกับน้ำนม, น้ำนมอันบุคคลกำลังรีดแล ย่อมไม่แปรไปฉันใด กรรมอันบุคคลกำลังกระทำเทียวก็ยังไม่ทันให้ผลฉันนั้น แต่ในกาลใด กรรมให้ผล, ในกาลนั้น ผู้กระทำย่อมประกอบด้วยทุกข์เห็นปานนั้น" ดังนี้แล้ว  เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า "น หิ ปาปํ กตํ กมฺม สชฺชุขีรํว มุจฺจิฑหนฺติ พาลมเนฺวติ ภสฺมาจฺฉนฺโนว ปาวโก. ก็กรรมชั่วอันบุคคลทำแล้ว ยังไม่ให้ผล เหมือนน้ำนมที่รีดในขณะนั้น ยังไม่แปรไปฉะนั้น, บาปกรรม ย่อมตามเผาคนพาล เหมือนไฟอันเถ้ากลบไว้ฉะนั้น. ฯ


เหตุการณ์เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา นายบวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากร พร้อมด้วยทีมงานผู้รับเหมารื้อถอนอาคาร ได้เดินทางเข้ามาที่วัดกัลยาณมิตร เพื่อทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างภายในวัดที่สร้างขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากร แต่อาคารเหล่านั้นเป็นทรัพย์สินของสงฆ์ที่สร้างขึ้นมาด้วยแรงศรัทธาของชาวพุทธ ทางวัดได้ทำป้ายเตือนห้ามปรามไว้แล้ว แต่ทางกรมศิลปากรก็มิได้สนใจแต่อย่างใด ยังคงออกคำสั่งให้ทุบทำลายต่อไปนับจากวันนี้เป็นต้นไป ให้จับตาดูชีวิตของนายบวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากร พร้อมด้วยทีมงานผู้รับเหมารื้อถอน ให้ดีว่าชีวิตเขาจะเป็นเยี่ยงไร เพราะกรรมจากการทำลายของสงฆ์นั้นหนักและร้ายแรงน้องๆจากอนันตริยกรรมเลยก็ว่าได้

  • เรื่องที่ ๒  เปรตงูเหลือม : กรรมทำร้ายคนดี และทำลายพระคันธกุฎีพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า

ได้ยินว่า สมัยเมื่อพระมหาโมคคัลลานเถรเจ้า ออกจากที่พักพร้อมพระลักขณถระ ในเวลาเช้าเพื่อเข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ ระหว่างทางพระมหาโมคคัลลานเถรเจ้า ได้แลเห็นด้วยทิพยจักษุเห็นเปรตมีกายเป็นงูเหลือมยาว ๒๕ โยชน์ มีหัวเป็นมนุษย์ ผมยาว ปรากฏไฟลุกไหม้จขากหัวจนถึงหาง จากหางลุกไหม้ขึ้นไปจนถึงหัว  บางขณะก็ลุกไหม้หัวและหางมาจรดกลางลำตัว จากกลางลำตัวไปถึงหัวและหาง สลับสับเปลี่ยนกันอยู่เช่นนี้ อัตภาพของเปรตนั้นได้รับทุกเวทนาอย่างแสนสาหัสพระมหาโมคคัลลานเถระ เห็นดังนั้นจึงยิ้มน้อยๆ ด้วยคิดว่าสัตว์ผู้มีร่างกายเช่นนี้เราไม่เคยเห็นมาก่อน

ฝ่ายพระลักขณเถระ เดินมากับพระมหาโมคคัลลานเถระ เห็นพระเถระยิ้มน้อยๆ ก็อดทีจะสงสัยเสียมิได้ ด้วยคิดว่าการทีพระอรหันต์ผู้ใหญ่ยิ้มคงต้องมีเหตุ จึงเอ่ยปากถามว่า  “ข้าแต่พระเถระผู้ใหญ่ ท่านมีเหตุอันใด ทำไมถึงได้เดินยิ้ม”พระมหาโมคคัลลานเถระ จึงกล่าวแก่พระลักขณเถระว่า “เวลานี้มิใช่กาลเวลาที่จะตอบปัญหา เอาไว้ถามเราต่อหน้าพระบรมสุคตเจ้า ขณะที่เข้าไปเฝ้าก็แล้วกัน”กล่าวดังนั้นแล้ว ท่านก็เดินนำพระลักขณเถระเข้าไปบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์

หลังจากกลับจากบิณฑบาต ฉันภัตตาหารเรียบร้อยแล้ว พระมหาโมคคัลลานเถระจึงชวนพระลักขณะเข้าไปเฝ้าพระสุคตเจ้า พระลักขณเถระจึงได้เอ่ยปากถามปัญหาที่ค้างไว้ในตอนเช้าว่า พระมหาโมคคัลลานะยิ้มด้วยเหตุอะไร? พระมหาโมคคัลลานะจึงตอบปัญหานั้น ต่อหน้าพระพักตร์พระบรมสุคตเจ้าว่า “เมื่อเช้าหลังจากเดินทางออกจากที่พักมาระหว่างทาง จ้าพเจ้าได้เห็นเปรตตนหนึ่งมีตัวเป็นงูเหลือยาว ๒๕ โยชน์ มีหัวเป็นคน ผมยาว ปรากฏไฟลุกไหม้ตั้งแต่หัวมาจรดหาง ไหม้ตั้งแต่หางมาจรดหัว บางขณะก็ไหม้ ตั้งแต่กลางลำตัวไปหัวและหาง สลับสับเปลียนกันอยู่เช่นนี้ เปรตนั้นได้รับทุกขเวทนาอันแรงกล้า ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นเปรตชนิดนี้มาก่อนจึงยิ้ม”

พระบรมสุคตเจ้าได้สดับคำของพระมหาโมคคัลลานเถระดังนั้น จึงทรงมีพุทธฏีกาตรัสว่า  “เราตถาคตก็เคยเห็นเปรตชนิดนั้นมาแล้ว ขณะที่เราพำนักอยู่ที่บริเวณต้ไม้ศรีมหาโพธิ์ แต่เรามิได้แจ้งแก่ใคร เหตุเพราะจะมิมีผู้ใดเชื่อ ผู้คนพวกนั้นจะพลอยได้รับโทษ แต่มาบัดนี้ โมคคัลลานะสามารถเห็นได้ด้วยทิพยจักษุ พอจะเป็นพยานยืนยันให้เราได้ เราจึงกล่าวว่าเคยเห็นเปรตตนนั้นมาก่อนแล้ว”ภิกษุทั้งหลายที่มาประชุมกันในขณะนั้น จึงทูลถามถึงบุพกรรมของเปรตนั้นว่ามีที่มาอย่างไร? องค์สมเด็จพระจอมไตร จึงทรงตรัสเล่าว่า  

“ในสมัยพระพุทธเจ้ากัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าโน้น มีเศรษฐีคนหนี่งนามว่า สุมังคลเศรษฐี เป็นผู้มีทรัพย์มาก มียศมาก มีบริวารมาก มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระบรมศาสดากัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นยิ่งนัก ได้ทุ่มเทกำลังทรัพย์สร้างวิหารถวายพระบรมศาสดาให้เป็นที่ประทับพร้อมหมู่สงฆ์ พื้นที่โดยรอบวิหารปูลาดด้วยแผ่นอิฐทองคำ กว้างคูณยาววัดได้ ๑๐๐ วา เสร็จแล้วก็จัดให้มีพิธีฉลองวิหารนั้น ด้วยกำลังทรัพย์อีกมหาศาล ในเวลาเช้าวันหนึ่ง สุมังคลเศรษฐีออกเดินทางจากที่พักเพื่อเข้าไปเฝ้าพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ระหว่างทางมีศาลาพักร้อนปลูกอยู่ข้างทางหลังหนี่ง สุมังคลเศรษฐีและบริวาร คิดจะเข้าไปนั่งพักให้หายเมื่อย แต่กลับพบบุรุษผู้หนี่ง นอนคุดคู้มีผ้าคลุมหัวอยู่กลางศาลา ที่เท้าก็เปื้อนโคลนสุมังคลเศรษฐี จึงกล่าวแก่บริวารว่า  “ชะรอยคนผู้นี้คงจะเป็นคนชอบเที่ยวกลางคืนแล้วมาหลบนอนกลางวัน เราไม่ควรพักร่วมชายคาเดียวกับกับคนเช่นนี้”  กล่าวเช่นนี้แล้วก็ออกเดินทางต่อไป

บุรุษที่กำลังนอยอู่นั้น ครั้นพอได้ยินเสียงผู้คนพูดคุยกันอยู่ภายในศาลาจึงเลิกผ้า ผงกหัวขึ้นมาดูหน้าเศรษฐีผู้พูด แล้วผูกใจเจ็บอาฆาต คิดว่า “ดีละ ตาเศรษฐีมาดูแคลนเรา เราจะหาวิธีแก้แค้นเสียให้สาสม “ แล้วก็ลงนอนต่อไปเวลาผ่านไปถึงยามบ่ายแก่ บุรุษผู้นอนในศาลานั้นตื่นขึ้นมาแล้วก็ ออกไปสืบถามถิ่นที่อยู่ของเศรษฐี จนรู้แน่ชัดแล้ว ตกราตรี บุรุษนั้นก็แอบไปจุดไฟเผานาข้าวของเศรษฐี จนข้าวที่สุกได้ที่แล้วพร้อมจะเก็บเกียวถูกไฟเผาไหม้จนเสียหาย เท่านั้นยังไม่พอ บุรุษนั้นยังแอบเข้าไปเผายุ้งข้าวของสุมังคลเศรษฐีด้วย  เขาได้เพียรพยายามจองล้างจองผลาญเผานาข้าวและยุ้งข้าวของเศรษฐีอยู่ ๗ ครั้ง  ก็หาได้ลดความคั่งแค้นลงไปได้ไม่ ต่อมาก็ย่องเข้าไปจุดไฟเผาเรือนของเศรษฐีอีก ๗ ครั้ง  ซ้ำยังแอบเข้าไปในคอกปสุสัตว์ของเศรษฐี ทำการทารุณกรรมต่อฝูงวัวอยู่ถึง ๗ ครั้ง จนบรรดาวัวเหล่านั้นพิการเดินไม่ได้

ในที่สุดบุรุษผู้จมปลักอยู่ในโลกแห่งความแค้น แม้จะจองเวรทำลายทรัพย์สินของเศรษฐีกี่ครั้งก็ยังไม่สาสมใจ จึงแสรงเข้าไปตีสนิทกับหญิงรับใช้ของเศรษฐี แล้วหลอกถามว่า สุมังคลเศรษฐีนี้มีสิ่งใดเป็นที่รักใคร่ นางหญิงรับใช้ พอเห็นมีชายหนุ่มมาตีสนิทแสดงกิริยาเกี้ยวพาราสีรทอดสะพาน นางจึงมอบไมตรีตอบด้วย ความไว้วางใจ ไม่ว่าชายหนุ่มปรารถนาจะรู้สิ่งใด นางก็เล่าแจ้งแถลงจนหมดว่า “ท่านสุมังคลเศรษฐีผู้เป็นนายของข้าพเจ้า  เป็นผู้ดีมีน้ำใจงาม ไม่มีสิงใดที่นายท่านจะหวงแหนรักใคร่เทิดทูนเท่ากับวิหารและพระคันธกุฏีซึ่งเป็นที่ประทับขององค์พระบรมศาสดากัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า”

บุรุษผู้โฉดชั่วนั้น ครั้นได้ฟังจึงคิดว่า “ดีละ ถ้าวิหารและพระคันธกุฏีเป็นที่โปรดปรานรักใคร่ของไอ้เฒ่าเศรษฐี เราก็จะต้องหาทางไปเผาทำลาย เพื่อระบายความแค้นเสียให้สมใจ”ครั้นพอถึงรุ่งอรุณของวันใหม่ องค์สมเด็จพระจอมไตรพร้อมบรรดาภิกษุสงฆ์สาวก เสด็จออกบิณฑบาตตามแถวบ้าน บุรุษผู้โฉดชั่วนั้น เมื่อรอดูรู้ว่าปลอดผู้คนในอาวาส จึงตรงเข้าไปทุบทำลายโอ่งน้ำ และภาชนะใส่น้ำเสียจนสิ้น แล้วจุดไฟเผาวิหารและพระคันธกุฏีเสียจนวอดมอดไหม้ ไม่มีเหลือแม้แตเสากุฏี ข้างฝ่ายเศรษฐีสุมังคละ พอรู้ข่าวว่าไฟได้ไหม้วิหารและพระคันธกุฏีที่ตนสร้างถวายพระบรมศาสดา ก็รีบมาดู พอเห็นกองเถ้าถ่าน กระจายอยู่เกลื่อนกร่อนแทนที่ที่ตนสร้างวิหารและพระคันธกุฏี  เศรษฐีก็มิได้แสดงอาการปริวิตกหรือเสียใจแม้แต่น้อย ตรงกันข้ามกลับแสดงอาการดีใจ ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่พอใจเป็นอย่างยิ่ง

บรรดาประชาชนที่มามุงดู พอได้เห็นอาการของสุมังคลเศรษฐีเช่นนั้น จีงพากันไต่ถามว่า  “ ท่านเศรษฐีบริจาคทุนทรัพย์จัดสร้างพระวิหารและพระคันธกุฏีไปตั้งมากมาย เมื่อสิ่งที่ท่านจงใจสร้างโดนไฟเผาทำลายเสีนจนสิ้น ทำไมท่านจึงแสดงอาการยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ดีอกดีใจ ท่านไม่รู้สึกเสียดายทรัพย์สินที่โดนเผาทำลายไปบ้างหรือ?”

สุมังคลเศรษฐีจึงกล่าวตอบแก่ผู้คนชนที่มามุงดูว่า  “ นาข้าวและยุ่งฉาง รวมทั้งเรือนของเราโดนไฟไหม้อย่างละเจ็ดครั้ง ถือได้ว่านั่นคือความสูญเสีย แต่พระวิหารและพระคันธกุฏี ที่เราสร้างถวายแด่พระบรมศาสดาและสงฆ์พุทธสาวก ด้วยเงินและทองเป็นอันมาก ถึงจะโดนไฟเผาไหม้มอดหมดไป เงินและทองนั้นก็มิได้หายไปไหน ยังจะติดตามตัวเราไปทุกภพทุกชาติ”“เหตุที่เรายิ้มน้อยยิ้มใหญ่ ก็เพราะจักได้มีโอกาสสละเงินและทอง จัดสร้างพระคันธกุฏีถวายพระบรมศาสดาและพระสงฆ์ จึงถือว่าเราจะสะสมอริยทรัพย์ให้เพิ่มพูนปรากฏในภพชาติต่อไป เช่นนี้จักมิให้เราดีใจได้อย่างไร?”

เมื่อกล่าวเช่นนี้แล้ว สุมังคลเศรษฐีจึงได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วทูลอาราธนาให้เสด็จพร้อมหมู่สงฆ์สาวกไปประทับในที่อันควรส่วนข้างหนีงของบริเวณอาวาสที่ตนสั่งให้บริวารจัดไว้ พร้อมทั้งทูลขอพุทธานุญาตจัดสร้างพระวิหารพร้อมพระคันธกุฏีถวายให้เป็นที่ประทับสมเด็จพระกัสสปสัมมาสัมพุทธะ ทรงรับด้วยอาการดุษฏีแล้งทรงเสด็จไปยังที่ที่เศรษฐีและบริวารจัดเตรียมไว้สุมังคลเศรษฐี มีความลิงโลดยินดียิ่งนัก ออกมาสั่งบริวารให้ระดมหาช่างชั้นเลิศรุมกันก่อสร้างพระวิหารและพระคันธกุฏีให้แล้วเสร็จภายใน ๓ เดือน เมื่อเสร็จแล้วเศรษฐีจึงสั่งให้ช่างทองหล่อทองคำให้เป็นแผ่นอิฐ นำมาปูพื้นบริเวณโดยรอบพระวิหาร  มีความกว้างคูณยาวเท่ากับพื้นที่เดิม แล้วสละทรัพย์ทำการเฉลิมฉลอง พร้อมถวายมหาทานแด่พระพุทธเจ้าพร้อมหมู่สงฆ์มีประมาณ ๒ หมื่นองค์ตลอดเจ็ดวัน จึงทูลอาราธนาพระบรมศาสดากับหมู่สงฆ์ให้เสด็จประทับภายในพระวิหารและพระคันธกุฏี 

สิ้นสุดงานบุญ สุมังคลเศรษฐี ให้มีจิตอิ่มเอิบยินดี  ในกุศลผลบุญทีตนเองทำเป็นยิ่งนัก ข้างบุรุษผู้มีใจโฉดชั่ว หมกหมุ่นอยู่ในแรงพยาบาท  เห็นว่าเศรษฐีมิได้มีความเจ็บแค้นเดือดร้อน ต่อการที่วิหารและพระคันธกุฏีอันเป็นที่รักของคนโดยไฟเผาจนมอดไหม้กลายเป็นเถ้าธุลี บุรุษนั้นแทนที่จะระลึกถึงความดีที่มีอยู่ในใจเศรษฐี กลับคิดว่า“ไอ้เฒ่าผู้นี้ มันช่างยั่วยวนกวนโทสาเรายิ่งนัก เผานามันก็แล้ว เผายุ่งฉางมันก็แล้ว เผาเรือนมันก็แล้ว ทำลายคอกปุสุสัตว์มันก็แล้ว แม้ที่สุดวิหารและพระคันธกุฏีอันเป็นที่รักโดนเราเผาทำลายกลายเป็นขี้เถ้า มันยังมีกะใจยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ ระริกระรี่สดชื่นใจ ไอ้เศรษฐีเฒ่ามันช่างไม่สทกสท้านอะไรซะเลย ถ้าไอ้เฒ่านี้ยังมีชีวิตอยู่ เราคงจะหาความสุขไม่ได้เป็นแน่แท้  ดีละ เราจะต้องหาวิธีฆ่าไอ้เศรษฐีเฒ่านี้ให้จงได้ " 

พอรุ่งเช้าบุรุษผู้มีจิตคิดแต่เรื่องโฉดชั่วนั้น จึงได้จัดแจงนุ่งห่มด้วยผ้าเนื้อหนา แล้วซ่อนมีดศัตราไว้ในผ้านุ่งของตน เดินตรงไปยังวิหาร เพื่อรอจังหวะที่จะฆ่าสุมังคลเศรษฐี  บุรุษผู้โฉดชั่วนั้น เฝ้ากระทำเช่นนี้อยู่ทุก ๆวัน จนสิ้นเวลาไปเจ็ดวัน ก็ยังไม่มีโอกาสที่จะลงมือฆ่าเศรษฐีได้ สุมังคลเศรษฐี เมื่อกล่าวถวายวิหาร พระคันธกุฏี  และโภชนาหารแด่พระพุทธเจ้าพร้อมพระสงฆ์สาวก ๒ หมื่นรูปแล้วครบ ๗ วัน


วันต่อมาจึงได้เดินทางเข้ามาเฝ้าพระบรมศาสดา แล้วกราบทูลว่า“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ประเสริฐ วินาศภัยและอัคคีภัยที่เกิดขึ้นได้ในครั้งนี้ ข้าพุทธเจ้ามารู้ว่า เป็นฝีมือของบุรุษผู้หนึ่ง ซึ่งเกิดจากแรงโทสาอาฆาตและริษยา เขาช่างเป็นคนที่น่าสงสารอย่างยิ่ง เขาได้มีความเพียรเป็นอันมาก ที่จะพยายามทำให้ข้าพระองค์ ต้องมีอันเป็นไป ไม่ว่าจะพยายามเผานาและยุ่งฉางถึง ๗ ครั้ง

ต่อมาก็พยายามเผาเรือนของข้าพุทธเจ้าอีก ๗ ครั้ง อีกทั้งพยายามที่จะทำลายข้าพุทธเจ้าด้วยการลอบเข้าไปในคอกปสุสัตว์ทำร้ายโคขุนของข้าพุทธเจ้าถึงกับพิการเดินไม่ได้ ด้วยการตัดเท้าโคทั้งหมดเสีย แลครั้งสุดท้ายก็แอบเข้ามาทุบทำลายภาชนะใส่น้ำในอาวาส และเผาวิหารพร้อมพระคันธกุฏี กรรมอันนี้หนักหนาสาหัส จักมีผลทำให้เขาได้รับทุกขเวทนาในภพชาติต่อไป จึงถือได้ว่า เขาช่างน่าสงสารยิ่งนัก”

“ข้าพุทธเจ้าจึงขอยกผลบุญที่ข้าพุทธเจ้าจักพึงได้รับ ในการถวายมหาทานครั้งนี้แก่บุรุษนั้นก่อนผู้อื่น เพื่อว่าเขาอาจจะสุขสบายขึ้นบ้างในโอกาศต่อไป”กล่าวถึงฝ่ายบุรุษผู้มีจิตคิดชั่ว ได้แต่กายด้วยเสื้อผ้าเสื้อหนาแล้วซ่อนมีดเอาไว้ในภายในเครื่องนุ่มห่ม ปะปนรวมมากับผู้คนเพื่อรอโอกาศที่จะฆ่าสุมังคลเศรษฐีเสียให้หายแค้น

ขณะที่เศรษฐีนั้นเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา เพื่อทูลสิ่งที่ตนปรารถนาแด่พระพุทธองค์ บุรุษนั้นก็นั้งปะปนอยู่กับฝูงชนในที่นั้นด้วยครั้นพอได้ฟังวาจาของสุมังคลเศรษฐี กล่าวถึงตนและแบ่งส่วนบุญของเศรษฐีให้แก่ตนก่อนผู้อื่น บุรุษผู้มีจิตคิดแต่เรืองโฉดชั่วนั้น ก็มานึกว่า  “เออ... นี่เรากำลังจะทำอะไรนะ เราจ้องจองล้างจองผลาญแก่เศรษฐีถึงเพียงนี้ ซึ่งเขาก็รู้ว่าเราทำ แทนที่จะถือโทษโกรธเคือง แก่เรา เขากลับมิได้ผูกโกรธ ซ้ำยังมีเมตตาแบ่งปันส่วนผลบุญอันได้มายากแก่เราก่อนผู้อื่นอีก ดูเอาเถิด แม้บัดนี้เรายังจะคิดฆ่าเขาได้ลงคออีกหรือ ที่ผ่านมาเราก็ได้เพียรที่จะกระทำกรรมอันชั่วช้าหนักหนาสาหัสแก่เขา ถ้าเรามิออกไปขอโทษแก่เขา แล้วขอให้เขายกโทษให้เรา ฟ้าคงจะต้องผ่าหัวเราให้แยกออกเป็นเสี่ยงๆ เป็นแน่”บุรุษผู้โฉดชั่วนั้น จึงออกมาจากที่ชุมชน แล้วเดินตรงเข้าไปคุกเข่าหมอบกราบลงแทบเท้าสุมังคลเศรษฐี กล่าวว่า“ข้าแต่นายผู้ประเสริฐ ขอท่านจงโปรดยกโทษในความผิดที่ข้าพเจ้าได้กระทำ พูด คิด แก่ท่าน ข้าพเจ้าขออภัยแก่ท่าน ณ โอกาสนี้”  

สุมังคลเศรษฐี พอได้ฟังจากปากบุรุษผู้นั้น ก็ถามขึ้นว่า “ดูก่อนสหาย ท่านจะให้เรายกโทษให้ด้วยเหตุอันใด ทำไมท่านจึงได้มาแสดงกิริยาปะหวั่นงันงกเช่นนี้ด้วยเล่า ขอท่านจงบอกให้เราได้ฟังก่อน”บุรุษผู้โฉดชั่วนั้น จีงได้เล่ารายละเอียดทีตนจองเวรจองล้างจองผลาญต่อเศรษฐีว่าทำมาอย่างไร จนแม้ที่สุดจนถึงคิดจะฆ่าเสียให้ตาย ให้ท่านสุมังคลเศรษฐีฟัง สุมังคลเศรษฐี ครั้นได้สดับ ก็ให้นึกสงสัยว่า เอ.. อยู่ดีๆ ทำไมบุรุษผู้นี้ถึงได้พยาบาทของเวรแก่เราถึงเพียงนี้ จึงเอ่ยปากถาม บุรุษผู้โฉดชั่วนั้น จึงได้ขอให้เศรษฐีระลึกนึกถึงคำพูด ที่พูดแก่บ่าวของตนในศาลาพักร้อนริมทางเมื่อครั้งกระโน้น

แล้วบุรุษนั้นจึงกล่าวว่า  “เหตุเพราะคำพูดที่เศรษฐีพูดดูแคลนแก่ข้าพเจ้า จึงทำให้ข้าพเจ้าผูกอาฆาตจองเวรมาถึงปัจจุบัน”สุมังคลเศรษฐี เมื่อระลึกถึงคำพูดของตนในอดีตได้ ถึงกล่าวขอโทษ ขอให้บุรุษนั้นยกโทษนั้นให้แก่ตนด้วย แล้วก็กล่าวว่า “เอาละสหาย จงลุกขึ้นเถิด เราได้ยกโทษแก่ท่านแล้ว เราเองก็ไม่ดี ที่พูดโดยไม่คิดว่าผู้อื่นจะได้ยิน จงลุกขึ้นเถอะนะ อย่ามานั่งคุกเข่าอยู่เช่นนี้เลย”

บุรุษนั้นจึงกล่าวว่า “ข้าแต่นายผู้ประเสริฐ ถ้าท่านยกโทษให้แก่ข้าพเจ้าจริง ๆ ขอนายท่านจงรับข้าพเจ้าพร้อมลูกเมีย ให้เป็นทาสรับใช้ในเรือนของท่าน  ข้าพเจ้าและลูกเมียต้องการเพียงก้อนข้าวและหยดน้ำจากนายท่าน เพื่อประทังชีวิตให้อยู่ได้เท่านั้น มิต้องการสิงใดตอบแทนอีก ขอนายท่านโปรดจงให้โอกาสแก่งข้าพเจ้าและครอบครัวได้ไถ่โทษด้วยวิธีนี้ด้วยเถิด”

สุมังคลเศรษฐี จึงกล่าวว่า  “สหายเราให้สัจจวายาวาจะไม่ถือโทษแก่ท่าน แต่เรามิอาจจะรับท่านและครอบครัวเข้ามาอยู่ในบ้านได้ ด้วยเหตุเพราะเราเกรงว่า เมื่อท่านมาอยู่ร่วมบ้านเดียวกับเราแล้ว เราคงจะว่ากล่าวตักเตือนท่านมิได้ เพราะเพียงแต่อดีตเรากล่าวตำหนิท่านเพียงเล็กน้อย ท่านยังผูกอาฆาต่อเราถึงเพียงนี้ เมื่อท่านมาอยู่ร่วมกับเรา วันข้างหน้าเราหรือจะกล้าว่าตักเตือนท่าน ท่านจงไปเสียเถิด สหาย”บุรุษนั้นได้ยอมรับการติดสินใจของสุมังคลเศรษฐีโดยดี  แล้วจึงลาถอยออกมาจากที่ประชุม

ครั้นพ้นเขตอาวาสแล้วไม่นาน  ขณะที่บุรุษนั้นกำลังจะเดินกลับบ้าน ฉับพลันฟ้าก็ได้ฟาดลงมาโดนศรีษะของบุรุษผู้โฉดชั่วนั้นแตกเป็นเสี่ยง ๆ ตายลงในที่สุด บุรุษนั้นเมื่อตายลงแล้ว ด้วยกรรมชั่วที่เขาสั่งสมกระทำไว้ นำพาให้เขาไปบังเกิดในอเวจีนรกหมกไหม้อยู่สิ้นระยะเวลา ๑ พุทธันดร ( แสนมหากัป)  จนลุถึงพระศาสนาของพระบรมศาสดาสมณโคดม จึงได้มาบังเกิดเป็นเปรตงูเหลือม วนเวียนอยู่ชายเขาคิชฌกูฏชานกรุงราชคฤห์ จนปรากฏตัวให้แก่เราตถาคตและโมคคัลลานเถระได้เห็นในที่สุด เมื่อองค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงที่มาของเปรตงูเหลือมจบลง พระองค์ก็โปรดแสดงผลที่คนพาล(คือคนขาดปัญญา) จะได้รับ 


---------------------------------------------------------------------------------


  • เปตติวิสยภูมิ      

หลังจากที่ได้ทำความเข้าใจเรื่องนรกมาแล้วจะเห็นว่านรกเป็นสถานที่ลงทัณฑ์ทรมานของผู้ที่ทำบาปอกุศลมามากเมื่อครั้งที่เป็นมนุษย์ ในลำดับต่อไปจะได้เรียนรู้วิถีชีวิตของเปรต อันเป็นสถานที่อยู่ของชีวิตหลังความตายอีกภพภูมิหนึ่ง ที่มีความน่าสนใจเช่นเดียวกัน เปรตบางจำพวกอาศัยปะปนอยู่กับภพมนุษย์ แต่เป็นภพที่ละเอียดกว่า ซึ่งมนุษย์มองไม่เห็น แต่ไม่ได้หมายความว่าเปรตนั้นไม่มี พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสยืนยันเรื่องเปรตนี้ว่ามีจริง และทรงรู้ถึงการกระทำที่จะนำไปเป็นเปรต ดังมีกล่าวไว้ใน มหาสีหนาทสูตร ตอนหนึ่งดังนี้ 

“ ดูก่อน สารีบุตร เราย่อมรู้จักเปรตวิสัย ทางไปสู่เปรตวิสัยและปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ถึงเปรตวิสัย อนึ่ง สัตว์ผู้ดำเนินประการใด เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงเปรตวิสัย เราย่อมรู้ชัดซึ่งการกระทำนั้นด้วย”      

เรื่องเปรตนี้นอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงรู้ชัดแจ้งแล้ว ยังมีเหล่าสาวกอีกจำนวนมากที่รู้ชัดแจ้ง หนึ่งในจำนวนพระสาวกนั้น คือ พระมหาโมคคัลลานะผู้มีฤทธิ์มาก หลายครั้งที่ท่านออกบิณฑบาตกับสหธรรมิกบ้าง เหล่าศิษย์บ้าง ท่าน จะพบกับเปรตที่มีลักษณะต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง เมื่อพบแล้วก็ยังมิได้บอก อะไรกับภิกษุนั้น ที่ไม่เห็นเปรต เมื่อท่านกลับมาถึงวัดแล้ว จึงนำมาเล่าต่อพระพักตร์ของพระบรมศาสดาว่า ได้เห็นเปรตตนหนึ่ง มีรูปร่างอย่างนั้นๆ ซึ่งพระองค์ทรงรับรองว่าเปรตที่พระมหาโมคคัลลานะเห็นนั้น เป็นเรื่องจริง หากอ่านพระไตรปิฎกจะพบว่า มีการรวบรวมเรื่องเปรตไว้เป็นจำนวนมาก และจัดหมวดหมู่ไว้โดยเฉพาะได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งสามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้ใน ขุททกนิกาย เปตวัตถุ

  • ความหมายของเปตภูมิ 

ภพเปรต : เปตติวิสยภูมิ คือ ที่อยู่ของเปรต หรือ โลกของเปรต เป็นหนึ่งในอบายภูมิ 4 ฝ่ายทุคติ สัตว์ที่ชื่อว่าเปรตนั้น เพราะเป็นสัตว์ที่มีความเดือดร้อน มีความเป็นอยู่อย่างหิวโหยอดอยาก ซึ่งต่างกับสัตว์นรก ที่มีความเดือดร้อนเหมือนกัน แต่ว่าเดือดร้อนเพราะถูกทรมานที่ตั้งและชนิดของเปรต ที่อยู่ของเปรตนั้น อยู่ใต้เขาตรีกูฏอันเป็นภพของอสูร แต่อยู่ในซอกเขาตรีกูฏ อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นภพเฉพาะของเปรต และยังมีเปรตบางประเภทที่อยู่ปะปนกับภพมนุษย์ด้วย ชนิดของการเกิดเป็นเปรตกล่าวโดยรวมๆ มี 2 ประเภท 

1. เปรตที่มาจากภูมิอื่นๆ เช่น เปรตที่มีเศษกรรมที่เหลือมาจากมหานรก อุสสทนรก ยมโลกแล้วจึงมาเป็นเปรต 
2. เปรตที่มาจากภูมิมนุษย์ ที่ได้ทำกรรมชั่วช้าครั้งเป็นมนุษย์ มีความตระหนี่ มีความโลภเป็นเจ้าเรือน เมื่อตายแล้วก็มาเกิดเป็นเปรตทันที ไม่ว่าจะเป็นเปรตที่มาจากภูมิใด เมื่อมาอยู่ในภูมิเปรตแล้วย่อมได้รับความทุกข์ทรมานฝ่ายเดียว เป็นเวลายาวนานมาก อายุของเปรตนั้นไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับวิบากกรรมที่ตนกระทำ บางตนยาวนานเป็นพุทธันดร บางตนน้อยกว่านั้น บางตนมากกว่านั้น อย่างเปรตญาติของพระเจ้าพิมพิสาร มีความทุกข์ทรมานนานถึง 4 พุทธันดร เปรตรูปร่างหน้าตาแปลกๆ ตามกรรมของตนที่เคยกระทำไว้ ชนิดของเปรต


ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนามีบันทึกไว้ว่า เปรตแบ่งเป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ ก็มี บางแห่งแบ่งเป็น 12 ตระกูลบ้าง หรือแยกย่อยออกเป็น 21 ชนิดบ้าง แล้วแต่จุดประสงค์ในการจำแนก ในลำดับต่อไปนักศึกษาจะได้ทราบรายละเอียดของเปรตชนิดต่างๆ เปรต 4 จำพวก ในเปตวัตถุ อรรถกถา แสดงเปรต 4 จำพวก คือ 

1. ปรทัตตูปชีวิกเปรต เป็นเปรตที่เลี้ยงชีวิตอยู่โดยอาศัยอาหารที่ผู้อื่นให้ โดยการเซ่นไหว้ เป็นต้น 
2. ขุปปีปาสิกเปรต เป็นเปรตที่อดอยาก หิวข้าวหิวน้ำอยู่เป็นนิตย์ 
3. นิชฌามตัณหิกเปรต เป็นเปรตที่ถูกไฟเผาให้เร่าร้อนอยู่เสมอ 
4. กาลกัญชิกเปรต เป็นเปรตในจำพวกอสุรกาย หรือเป็นชื่อของอสุรกายที่เป็นเปรต 

ในอปทานอรรถกถา สุตตนิบาตอรรถกถา และพุทธวังสะอรรถกถา แสดงว่าบรรดาพระโพธิสัตว์ ทั้งหลาย นับตั้งแต่ได้รับพุทธพยากรณ์เป็นต้นไป จะไม่เกิดเป็น ขุปปีปาสิกเปรต นิชฌามตัณหิกเปรต หรือกาลกัญจิกเปรต ถ้าจะต้องไปเกิดเป็นเปรต ก็จะเกิดเป็น ปรทัตตูปชีวิกเปรต ประเภทเดียว เปรต 12 ตระกูล ได้แก่ 

1. วันตาสเปรต เปรตที่กินน้ำลาย เสมหะ อาเจียน เป็นอาหาร 
2. กุณปาสเปรต เปรตที่กินซากศพคน หรือสัตว์ เป็นอาหาร 
3. คูถขาทกเปรต เปรตที่กินอุจจาระต่างๆ เป็นอาหาร 
4. อัคคิชาลมุขเปรต เปรตที่มีเปลวไฟลุกอยู่ในปากเสมอ 
5. สุจิมุขเปรต เปรตที่ปากเท่ารูเข็ม 
6. ตัณหัฏฏิตเปรต เปรตที่ถูกตัณหาเบียดเบียนให้หิวข้าวหิวน้ำเสมอ 
7. นิชฌามกเปรต เปรตที่มีตัวดำเหมือนตอไม้ที่เผา 
8. สัพพังคเปรต เปรตที่มีเล็บมือ เล็บเท้ายาวคมเหมือนมีด
9. ปัพพตังคเปรต เปรตที่มีร่างกายสูงใหญ่เท่าภูเขา 
10. อชครเปรต เปรตที่มีร่างกายคล้ายสัตว์เดียรัจฉาน 
11. มหิทธิกเปรต เปรตที่มีฤทธิ์มาก 
12. เวมานิกเปรต เปรตที่ต้องเสวยทุกข์ในเวลากลางวัน แต่กลางคืนได้ไปเสวยสุขในวิมาน 

  • เปรต 21 จำพวก ในวินัย และลักขณสังยุตตพระบาลี แสดงเปรต 21 จำพวก คือ 
1. อัฏฐีสังขสิกเปรต เปรตที่มีกระดูกติดกันเป็นท่อนๆ แต่ไม่มีเนื้อ 
2. มังสเปสิกเปรต เปรตที่มีเนื้อเป็นชิ้นๆ แต่ไม่มีกระดูก 
3. มังสปิณฑเปรต เปรตที่มีเนื้อเป็นก้อน เปรตหนังถลอก เปรตไม่มีหนังด้วยกรรมที่ตอนเป็นมนุษย์ชอบปอกลอกผู้อื่น 
4. นิจฉวิเปรต เปรตที่ไม่มีหนัง 
5. อสิโลมเปรต เปรตที่มีขนเป็นพระขรรค์ 
6. สัตติโลมเปรต เปรตที่มีขนเป็นหอก 
7. อุสุโลมเปรต เปรตที่มีขนเป็นลูกธนู 
8. สูจิโลมเปรต เปรตที่มีขนเป็นเข็ม 
9. ทุติยสูจิโลมเปรต เปรตที่มีขนเป็นเข็มชนิดที่ 2 
10. กุมภัณฑเปรต เปรตที่มีอัณฑะใหญ่โตมาก 
11. คูถกูปนิมุคคเปรต เปรตที่จมอยู่ในอุจจาระ 
12. คูถขาทกเปรต เปรตที่กินอุจจาระ 
13. นิจฉวิตกิเปรต เปรตหญิงที่ไม่มีหนัง 
14. ทุคคันธเปรต เปรตที่มีกลิ่นเหม็นเน่า 
15. โอคิลินีเปรต เปรตที่มีร่างกายเป็นถ่านไฟ 
16. อลิสเปรต เปรตที่ไม่มีศีรษะ 
17. ภิกขุเปรต เปรตที่มีรูปร่างสัณฐานเหมือนพระ 
18. ภิกขุนีเปรต เปรตที่มีรูปร่างสัณฐานเหมือนภิกษุณี 
19. สิกขมานเปรต* เปรตที่มีรูปร่างสัณฐานเหมือนสิกขมานา (สามเณรีที่ได้รับการอบรมเป็นเวลา 2 ปี เพื่อบวชเป็นภิกษุณี) 
20. สามเณรเปรต เปรตที่มีรูปร่างสัณฐานเหมือนสามเณร 
21. สามเณรีเปรต เปรตที่มีรูปร่างสัณฐานเหมือนสามเณรี 


  • เปรตมีรูปร่างน่าเกลียดน่ากลัว รายละเอียดเปรต 12 ตระกูล 

ตระกูลที่ 1 วันตาสาเปรต

เปรตตระกูลนี้ มีรูปร่างน่าเกลียด น่ากลัว และอดอยากหิวโหย เมื่อเปรตเหล่านี้เห็นมนุษย์ถ่มเสลด น้ำลายออกมาต่างตื่นเต้นดีใจรีบตรงไปดูดเอาโอชะเสลดเป็นอาหาร กินแล้วยังหิวโหยเช่นเดิม จนกว่าจะสิ้นกรรมที่ทำไว้ จึงจะไปเกิดในภูมิอื่น  กรรมที่ทำให้เป็นเปรตตระกูลนี้ เพราะชาติก่อนเป็นคนตระหนี่จับขั้วหัวใจ เห็นผู้ใดอดอยากมาขออาหาร ก็พาลโกรธถ่มน้ำลายใส่ด้วยความรังเกียจ หรือเข้าไปในสถานที่ที่ควรเคารพบูชา เช่น โบสถ์ วิหาร ลานพระเจดีย์ แล้วไม่มีความเคารพต่อสถานที่ ได้ถ่มเสลดน้ำลายลงในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์นั้น เมื่อตายแล้วก็มาเกิดเป็นเปรตในตระกูลนี้ 


ตระกูลที่ 2 กุณปขาทาเปรต

เปรตตระกูลนี้มีรูปร่างน่าเกลียดมาก จะซอกซอนหาซากอสุภะกินเป็นอาหารด้วยความหิวโหย ครั้นเห็นซากอสุภะของสัตว์ที่ล้มตาย กลายเป็นศพอืดเน่าเหม็น เปรตเหล่านี้จะดีอกดีใจวิ่งเข้าไปดูดโอชะที่เน่าเหม็นจากซากอสุภะนั้น  กรรมที่ทำให้มาเป็นเปรตตระกูลนี้ เพราะชาติที่เป็นมนุษย์มีความตระหนี่ เมื่อมีผู้มาขอบริจาคทาน ก็แกล้งให้ของที่ไม่ควรให้ ด้วยความปรารถนาจะแกล้งประชด ไม่เคารพในทาน จึงมาเกิดเป็นเปรตประเภทนี้ 


ตระกูลที่ 3 คูถขาทาเปรต

เปรตตระกูลนี้ มีรูปร่างน่าสะอิดสะเอียน น่าเกลียด เปรตชนิดนี้จะเที่ยวแสวงหาคูถ คือ อุจจาระ ที่คนถ่ายเอาไว้ ยิ่งมีกลิ่นเหม็นมากเท่าไรก็ยิ่งชอบ เมื่อเปรตเหล่านี้เห็นอุจจาระจะดีใจจนเนื้อเต้น รีบวิ่งรี่เข้าไปที่กองอุจจาระเหมือนสุนัขอย่างนั้น ครั้นไปถึงก็ก้มหน้าดูดเอาโอชะของคูถนั้นเป็นอาหาร แต่ก็ไม่เคยอิ่มเลย      กรรมที่ทำให้มาเป็นเปรตตระกูลนี้ เพราะครั้งที่เป็นมนุษย์ มีความตระหนี่จัด เมื่อหมู่ญาติที่ตกทุกข์ได้ยาก หรือผู้คนมาหาเพื่อขอความช่วยเหลือ ขอข้าว ขอน้ำดื่ม จะเกิดอาการขุ่นเคืองขึ้นมาทันที ชี้ไปที่มูลสัตว์พร้อมกับบอกว่า “ ถ้าอยากได้ ก็จงเอาไปกินเถิด แต่จะมาเอาข้าวปลาอาหาร ข้าไม่ให้หรอก” แล้วก็ขับไล่ไสส่ง ด่าด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย ตายแล้วจึงไปเกิดเป็นเปรตชนิดนี้ 


ตระกูลที่ 4 อัคคิชาลมุขาเปรต 

เปรตตระกูลนี้ มีรูปร่างผอมโซ มีเปลวไฟแลบออกมาจากปากตลอดเวลา ทั้งกลางวันกลางคืน ไฟไหม้ปากไหม้ลิ้นเจ็บแสบเจ็บร้อน ครั้นทนไม่ได้ก็วิ่งร้องไห้ครวญครางไปไกลถึงร้อยโยชน์ พันโยชน์ ถึงกระนั้นไฟก็ไม่ดับ กลับเป็นเปลวเผาลนปากและลิ้นหนักเข้าไปอีก  กรรมที่ทำให้มาเกิดเป็นเปรตตระกูลนี้ เพราะครั้งเป็นมนุษย์ มีความตระหนี่เหนียวแน่น เมื่อมีใคร มาขอ ครั้นจะไม่ให้ก็กลัวคนอื่นดูแคลน จึงแกล้งให้สิ่งของร้อนๆ เพื่อหวังจะแกล้งให้ผู้รับเข็ดหลาบ จะได้เลิกมาขอ เพราะไม่เห็นอานิสงส์ของการทำทาน  


ตระกูลที่ 5 สุจิมุขาเปรต 

เปรตตระกูลนี้ รูปร่างแปลกพิกล คือ เท้าทั้งสองใหญ่โต คอยาวมาก แต่ปากเท่ารูเข็ม จะได้อาหารมาบริโภคแต่ละครั้งก็ไม่พออิ่ม เพราะมีปากเท่ารูเข็ม อาหารไม่อาจจะผ่านช่องปากเข้าไปได้ง่ายๆ อยากกินแต่กินไม่ได้ ต้องทุกข์ทรมานแสนลำบาก ร่างกายผอมโซดำเกรียม  กรรมที่ทำให้เป็นเปรตตระกูลนี้ เพราะเป็นคนตระหนี่ในชาติที่เป็นมนุษย์ เมื่อมีใครมาขออาหาร ก็ไม่อยากให้ และไม่มีศรัทธาที่จะถวายทานแก่สมณพราหมณ์ผู้มีศีล มีจิตหวงแหนทรัพย์สมบัติ ผลกรรมตามสนอง ต้องมาเกิดเป็นเปรตปากเท่ารูเข็ม 


ตระกูลที่ 6 ตัณหาชิตาเปรต 

เปรตตระกูลนี้ มีรูปร่างผอมและอดอยากเช่นเดียวกับเปรตพวกอื่น คือ มีความอยากข้าว น้ำเป็นกำลัง ที่แปลกออกไป คือ เปรตเหล่านี้จะเดินตระเวนท่องเที่ยวไปเรื่อยๆ เพื่อหาอาหาร เมื่อมองไปเห็นสระ บ่อ ห้วย หนอง ก็ตื่นเต้นดีใจ รีบวิ่งไปโดยเร็ว แต่ครั้นไปถึงแหล่งน้ำนั้น กลับกลายเป็นสิ่งอื่นด้วย อำนาจกรรมบันดาล  กรรมที่ทำให้เป็นเปรตตระกูลนี้ เพราะเป็นคนหวงข้าวหวงน้ำ เที่ยวปิดสระ ปิดบ่อ ปิดหม้อ ไม่ให้คนอื่นได้ดื่มกิน ครั้นละโลกแล้วก็มาเกิดเป็นเปรตอดอยากข้าวน้ำดังกล่าว 


ตระกูลที่ 7 นิชฌามักกาเปรต 

เปรตตระกูลนี้ มีรูปร่างเหมือนต้นเสาหรือต้นไม้ที่ถูกไฟไหม้ สูงชะลูดดำทะมึน แลดูน่ากลัวมาก มีกลิ่นเหม็นเน่า มือและเท้าเป็นง่อย ริมฝีปากด้านบนห้อยทับริมฝีปากด้านล่าง มีฟันยาว มีเขี้ยวออกจากปาก ผมยาวพะรุงพะรัง มีความอดอยากเหลือประมาณ ยืนทื่ออยู่ที่เดิมไม่ท่องเที่ยวไปไหนเหมือนเปรตชนิดอื่น   กรรมที่ทำให้เกิดเป็นเปรตตระกูลนี้ เพราะเป็นคนใจหยาบ เห็นสมณพราหมณ์ผู้มีศีลก็โกรธเคือง มีอกุศลจิตคิดว่า ท่านเหล่านั้นจะมาขอของตน จึงแสดงกิริยาอาการเยาะเย้ยถากถาง ขับไล่สมณพราหมณ์ เหล่านั้นให้ได้รับความอับอาย หรือเห็นพ่อแม่เป็นคนแก่คนเฒ่า เกิดโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนเพราะความชรา แกล้งให้ท่านตกใจจะได้ตายไวๆ ตัวเองจะได้ครอบครองสมบัติ 


ตระกูลที่ 8 สัพพังคาเปรต 

เปรตตระกูลนี้ มีร่างกายใหญ่โต มีเล็บมือเล็บเท้ายาวคมเหมือนมีดเหมือนดาบและงอเหมือนตะขอ ได้แต่ก้มหน้าก้มตาตะกายข่วนร่างกายตนเองให้ขาดเป็นแผลด้วยเล็บ แล้วกินเลือดเนื้อของตนเองเป็นอาหาร  กรรมที่ทำให้เกิดเป็นเปรตตระกูลนี้ เพราะชอบขูดรีดชาวบ้าน เอาเปรียบผู้อื่น หรือบางครั้งชอบรังแกหยิกข่วนบิดามารดา ถ้าเป็นหญิงก็หยิกข่วนสามีของตน 


ตระกูลที่ 9 ปัพพตังคาเปรต 

เปรตตระกูลนี้ มีร่างกายใหญ่เหมือนภูเขา เวลากลางคืนสว่างไสวรุ่งเรืองด้วยเปลวไฟ กลางวันเป็นควันล้อมรอบกาย เปรตเหล่านี้ต้องถูกไฟเผาคลอก นอนกลิ้งไปมาเหมือนขอนไม้ที่กลิ้งอยู่กลางไร่กลางป่า ได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัส ร้องไห้ปานจะขาดใจ กรรมที่เกิดเป็นเปรตตระกูลนี้ เพราะครั้งเป็นมนุษย์ได้เอาไฟเผาบ้าน เผาโรงเรียน เผากุฏิ วิหาร เป็นต้น 


ตระกูลที่ 10 อชครเปรต  

เปรตตระกูลนี้ มีรูปร่างคล้ายกับสัตว์เดียรัจฉาน เช่น มีรูปร่างเป็นงูเหลือม เป็นเสือ เป็นม้า เป็นวัว เป็นควาย เป็นต้น แต่จะถูกไฟเผาไหม้ทั่วร่างกายทั้งกลางวันและกลางคืนไม่ว่างเว้น แม้แต่วันเดียว  กรรมที่ทำให้เกิดเป็นเปรตตระกูลนี้ เพราะเมื่อครั้งเป็นมนุษย์เป็นคนตระหนี่ เมื่อเห็นสมณพราหมณ์ ผู้มีศีลมาเยือน ก็ด่าเปรียบเปรยท่านว่า เสมอด้วยสัตว์เดียรัจฉานต่างๆ เพราะไม่อยากให้ทาน หรือแกล้งล้อเลียนเป็นรูปสัตว์ต่างๆ 


ตระกูลที่ 11 มหิทธิกาเปรต

เปรตตระกูลนี้ เป็นเปรตที่มีฤทธิ์และรูปงามดุจเทวดา แต่ว่าอดอยากหิวโหยอาหารอยู่ตลอดเวลา เหมือนเปรตชนิดอื่นๆ จะเที่ยวไปในสถานที่ต่างๆ เมื่อพบคูถมูตร และของสกปรกก็จะดูดกินเป็นอาหาร  กรรมที่ทำให้เกิดเป็นเปรตตระกูลนี้ เพราะครั้งเป็นมนุษย์ บวชเป็นพระภิกษุสามเณร พยายามรักษาศีลของตนให้บริสุทธิ์ จึงมีรูปงามผุดผ่องราวเทวดา แต่ไม่ได้บำเพ็ญธรรม มีใจเกียจคร้านต่อการบำเพ็ญสมณธรรมตามวิสัยของบรรพชิต จิตใจจึงมากไปด้วย โลภะ โทสะ โมหะ มีความเข้าใจผิดว่า “ เราบวชแล้ว รักษาแต่ศีลอย่างเดียวก็พอ ไม่เห็นต้องทำบุญให้ทานเหมือนฆราวาสเลย” ครั้นเมื่อละโลกจึงมาเกิดเป็นเปรตตระกูลนี้ 


ตระกูลที่ 12 เวมานิกเปรต 

เปรตตระกูลสุดท้าย เปรตตระกูลนี้จะมีสมบัติ คือ วิมานทองอันเป็นทิพย์ บางตนจะเสวยสุขราวเทวดาในเวลากลางวัน ส่วนเวลากลางคืนจะเสวยทุกข์ที่เกิดจากความตระหนี่ในทรัพย์ บางตนเสวยสุขเฉพาะในเวลากลางคืน ส่วนกลางวันจะเสวยทุกข์ ตามสมควรแก่กรรม กรรมที่ทำให้เกิดมาเป็นเปรตตระกูลนี้ เพราะครั้งเป็นมนุษย์มีศรัทธาทำบุญกุศลไว้มาก แต่ไม่รักษาศีล ไม่รักษากาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์ ครั้นตายลงจึงตรงมาเกิดเป็นเวมานิกเปรต หรือเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนาได้รักษาศีลเพียงอย่างเดียว แล้วไม่มีศรัทธาในการสร้างบุญกุศลอื่น และมีความสงสัยในเรื่องบุญเรื่องบาป แม้รักษาศีลก็รักษาแบบเสียไม่ได้ หรือไม่ตั้งใจรักษา


ที่มา : พระไตรปิฏก

ไม่มีความคิดเห็น

รูปภาพธีมโดย RASimon. ขับเคลื่อนโดย Blogger.