ขอชู 4 นิ้วได้ไม?
มีข่าวผู้นำไทยเดินทางไปจังหวัดขอนแก่น แล้วเกิดมีนักศึกษาชูสามนิ้วแสดงเชิงสัญลักษณ์ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร จริงๆ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็เป็นประเด็นที่อยู่ในใจของคนในสังคมอยู่แล้ว ก็แน่นอนว่าต้องมีสองฝั่งสองฝ่าย ใครจะชูสองนิ้ว หนึ่งนิ้ว หรือห้านิ้วก็ตามแต่ ในสภาวะการณ์เช่นนี้ ผู้เขียนอยากจะชู ๔ นิ้ว ขอเกาะกระแสการชู ๓ นิ้วสักหน่อย คงจะไม่มีใครว่ากระไร แต่เป็นการชู ๔ นิ้วที่มีความหมาย การชู ๔ นิ้วนี้มิได้จะแสดงการต่อต้านผู้นำในสังคมนี้แต่ประการใด แต่เป็นการนำเสนอหลักธรรมเพื่อประยุกต์ใช้กับทุกองค์กร ทุกที่ทุกสถาน ส่วนใครจะขัดแย้งประเด็นการชูสามนิ้วเป็นเช่่นไรก็อีกเรื่องหนึ่ง ถ้าพูดเรื่องการเมืองก็คงจะไม่จบง่าย และคนเห็นต่างก็ย่อมจะเห็นต่างกันอยู่ร่ำไป สำหรับเรื่องการชูสามนิ้ว แล้วผิดกฏหมายก็จะว่าไปตอนนี้ก็มีกฎอัยการศึก ทหารเป็นใหญ่โดยประการทั้งปวง จะทำอะไรก็เข้าทางทหาร ขนาดดำเนินรายการทีวี ก็มีโอกาสถูกสั่งระงับได้เหมือนกัน ตอนนี้ความอิสระในการแสดงความคิดเห็น ทัศนะทางการเมืองถูกจำกัด เพราะไม่มีรัฐธรรมนูญ ตอนนี้บ้านเมืองมิได้เป็นประชาธิปไตย
ผู้นำในสังคมไม่ว่าจะเป็นระดับครอบครัว ท้องถิ่น จังหวัด ประเทศ องค์กร แม้กระทั้งระดับโลก พึงมีพลธรรม ๔ ประการ ในการดำเนินชีวิตปฏิบัติงานในฐานะเป็นหัว และเป็นหน้า เป็นผู้นำให้ให้เกิดความสำเร็จในการทำงาน หลักสี่ประการนี้ เชื่อแน่ว่าหากผู้นำใด ขาดตกบกพร่องแม้ข้อหนึ่งใดข้อหนึ่งไป ก็จักทำเกิดความเสียหายต่อตนเองคือผู้นำเอง และต่อองค์กร ต่อส่วนรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ผู้นำจะตามทฤษฎีตะวันตก ตะวันออก มีหลายประเภท มีที่มาแตกต่างกัน มีข้อดีข้อเสียใจแต่ละทฤษฎี เช่น ผู้นำนำแบบเผด็จการ ผู้นำประชาธิปไตย ผู้นำแบบสังคมนิยม ฯลฯ ผู้นำคุณจะได้มาเป็นใหญ่ผู้นำโดยการแต่งตั้ง หรือยึดอำนาจมา หรือวิธีการใดๆก็ตาม หากว่าคุณไม่มีหลักธรรม ๔ ประการนี้คุณก็ไปไม่รอดแน่นอน ขอยำ้ว่าไปไม่รอดแน่นอน ผู้เขียนมิบังอาจสอนสั่งผู้นำทั่้งหลาย แต่เพียงอยากนำเสนอหลักธรรม ตามมุมมองที่คิดว่า น่าจะเป็นไปได้ หากผู้นำเป็นผู้นำคนไม่ว่าจะระดับไหนๆ ก็ชื่อว่าเป็นผู้นำ และมีผู้ตาม จะทำให้ผู้ตามไว้เนืิ้อเชื้อใจ และปฏิบัติตามคำสั่ง นโยบายเพื่อไปสู่เป้าหมายความสำเร็จ ก็ต้องมีผู้นำที่ไม่ธรรมดา ความไม่ธรรมดานี่ไม่จำเป็นต้องติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด ภาวะผู้นำตามหลักเชิงพุทธสร้างขึ้นมาได้ หากมีใจกว้างที่จะรับฟังและน้อมไปปฏิบัติ เพราะหลักธรรมสามารถประยุกต์ได้ทันสมัยตลอดเวลา ทนต่อการพิสูจน์ อารัมภบทกันมานิดหน่อย เริ่มต้นว่า ผู้นำดีต้องมีพลัง ๆ ในที่นี้เป็นพลังที่เกิดมาจากการสั่งสมความรู้ ประสบการณ์ ทักษะ ทัศนคติของคนๆนั้น คือ ต้องมีความรู้ การเป็นผู้นำประเทศไม่รู้อะไรเลย ทำอะไรก็บกพร่อง พูดอะไรก็บกพร่อง คิดเรื่องอะไรก็เสียหาย ก็ล้วนเกิดจากการไม่มีศักยภาพความสามารถ สรุปก็คือโง่ ง่ายๆ ส่วนการจะมีความรู้ในการบริหารงาน ก็ต้องรู้จักแสวงหา ร่ำเรียนตามหลักนักปราชญ์ สุ จุ ป ลิ และตามหลักธรรมที่เชื่อมโยงดังรูปที่ ๑ ด้านล่าง ที่เรียกว่าปัญญาพละ เรียนรู้ทุกวิถีทางจากการอ่าน การฟัง ใช้หลัดโยนิโสมนสิการ การพิจารณาไตร่ตรองอย่างแยบคายลึกซึ้ง ปรโตโฆสะ ฟังเสียงจากภายนอก หมายถึงฟังเสียงคนทั้งหลาย ฟังเสียงประชาชนให้มากๆ ฟังเสียงบุคคลอื่นๆ ฟังข้อมุลอื่นๆ รับรู้ข้อมูลหลากหลาย มิใช่รู้หรือฟังเพียงส่วนหนึ่งนิดหนึ่งแล้วตัดสินใจ เรียกว่าข้อมูลไม่รอบด้าน ไม่รู้จริง ไม่ลึกซึ้ง และต้องมีวิริยพละ ความขยัน ดังในภาพที่ ๒ คือความกระตือร้อล้นนั่นเอง มีอนวัชชพละ เว้นชั่ว มีความสัตย์ซื่อในการทำงานทุกประการตามแผนในรูปที่ ๓ และสังคหพละในรูปที่ ๔ หลักธรรมนี้เริ่มแรกทีเดียว ได้อ่านหนังสือหลวงพ่อพระพรหมบัณฑิต ท่านกล่าวถึงพละ ๔ เป็นหลักภาวะผู้นำได้ ผู้เขียนจึงได้นำมาเป็นหัวข้อในการวิจัย โดยกล่าวสรุปเกี่ยวกับหลักพละ ๔ นี้ดังนี้
๑. ปัญญาพละ คือ การรู้เกี่ยวกับจริตคน เป็นความรอบรู้เกี่ยวกับผู้ร่วมงาน ผู้นำต้องรู้ว่าใครมีความสามารถด้านใด มีความรู้ถนัดด้านใดเพื่อจะได้มอบหมายงานใช้คนให้เหมาะกับงาน นอกจากนั้น การที่ผู้นำจะเกิดปัญญาพละ เป็นผู้รอบรู้ มีความสามารถ มีสติปัญญา มีภาวะผู้นำด้านนี้ จะนำพาผู้ใต้บังคับบัญชาให้ไปสู่เป้าหมาย ทำงานร่วมกันให้ถึงปลายทางเสร็จสมบูรณ์ มีประสิทธิภาพได้นั้น ตัวผู้นำต้องใฝ่รู้ ใฝ่ศึกษาความรู้ทุกศาสตร์ทุกแขนง ทุกอย่างย่อมมีประโยชน์ ประสบการณ์ทุกสิ่งย่อมมีคุณค่าที่จะเกื้อกูลต่อการทำงาน ตัดสินใจ เพราะเมื่อมีความรอบรู้ก็ย่อมกลายเป็นอาวุธในการขจัดอุปสรรคปัญหาได้ ดังคำที่ว่า พลังแห่งปัญญาคืออาวุธ หรือพละกำลังคือปัญญา
๒. วิริยพละ คือ กำลังแห่งความขยันหมั่นเพียร คือเป็นกำลังที่มีคุณูปการต่อความเป็นผู้นำอย่างมาก หากว่าผู้นำไม่มีความขยันเอาการเอางาน ไม่มีวิริยพละแล้ว ก็ไม่สามารถนำพาองค์กร หรือชักนำจูงใจให้หมู่ผู้ร่วมงานไปสู่จุดหมายปลายทางได้ ผู้นำที่ไม่ขยัน กล่าวคือเป็นคนขี้เกียจ ขี้คร้าน มีบุคลิกเฉื่อยชา ท้อแท้ง่ายย่อมไม่เป็นที่ปรารถนาของลูกน้อง ผู้ใต้บังคับบัญชา เพราะย่อมจะทำให้ลูกน้อยพลอยไม่เชื่อถือไปด้วย
๓. อนวัชชพละได้ว่า คือ กำลังของผู้นำที่จะนำพาให้ผู้นำเกิดความเจริญในการปฏิบัติงาน โดยผู้นำต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติ คือ ต้องมีความซื่อสัตย์ สุจริต มีหิริ โอตตัปปะ ไม่เกี่ยวข้องกับอบายมุขอันเป็นหนทางแห่งความฉิบหาย เป็นผู้มีศีลตามหลักธรรม มีระเบียบวินัย มีกติกา ไม่ละเมิดกฎหมายบ้านเมือง ประกอบอาชีพที่ถูกต้อง ซึ่งอนวัชชพละนี้ จะชักนำให้เกิดความเจริญรุ่งเรื่องในสิ่งที่ทำ เพราะเป็นหนทางดีที่ผู้นำพึงเดิน
พระพุทธเจ้าตรัสถึง สังคหพละ ไว้ว่า “สังคหพละ เป็นอย่างไร คือ สังคหวัตถุ (ธรรมเครื่องยึดเหนี่ยว) ๔ ประการนี้ ได้แก่ (๑) ทาน การให้ (๒) เปยยวัชชะ วาจาเป็นที่รัก (๓) อัตถจริยา การประพฤติประโยชน์ (๔) สมานัตตตา การวางตนสม่ำเสมอ...นี้เรียก ว่าสังคหพละ
๔. สังคหพละ (สังคหวัตถุ ๔) กำลังแห่งการมีมนุษยสัมพันธ์ หรือการสงเคราะห์ คือหลักการสงเคราะห์กันและกันระหว่างผู้อยู่ร่วมกันในสังคม ทำให้เกิดความรักใคร่ สามัคคีกลมเกลียวต่อกัน ทำให้เกิดมนุษยสัมพันธ์ที่ดีงาม ส่งผลดีต่อการดำเนินงานให้ราบรื่น ได้รับความร่วมแรงร่วมใจในอันจะขับเคลื่อนองค์กรไปสู่จุดหมายที่คาดหวังไว้โดยมี
(๑) ทาน การให้เปรียบเสมือนการผูกมิตร ผู้ให้ย่อมเป็นที่ชอบใจของผู้รับ จะให้ด้วยคำพูด ด้วยแรงกาย แรงใจ ด้วยสิ่งของ ด้วยการช่วยเหลือ ด้วยการแนะนำชี้แนะ การทำอย่างนี้จะเกิดความไว้ใจต่อกันและกัน
(๒) ปิยวาจา การพูดด้วยวาจาสุภาพ อันเป็นเครื่องผูกมัดใจยิ่งกว่าของขลังใดๆในโลก เพราะตามปกติคนเราชอบคำพูดที่เสนาะโสตอยู่แล้ว การได้ฟังสิ่งที่ไม่ระคายหูย่อมส่งผลต่ออารมณ์ ไม่เกิดปฏิฆะ ไม่เกิดความไม่ชอบใจ ฉะนั้น การพูดคำอ่อนหวาน เป็นเสน่ห์และบวกกับเทคนิคการพูดก็สามารถผูกใจ ผู้ร่วมงานทั้งหลายได้
(๓) อัตถจริยา การบำเพ็ญตนเป็นประโยชน์ เสียสละแก่ส่วนรวมด้วยความสามารถที่มีอ ไม่ว่าจะเป็นสติปัญญา ความคิด กำลังเรี่ยวแรง คำพูด สิ่งของ หรือการช่วยเหลือโดยวิธีการใดก็ตาม ย่อมทำให้ผู้ร่วมงาน ผู้ใต้บังคับบัญชาเกิดความศรัทธา รักใคร่ เห็นอกเห็นใจในผู้นำ
(๔) สมานัตตตา การวางตนเหมาะสม เสมอต้นเสมอปลายกล่าวคือ ไม่เอารัด ไม่เอาเปรียบบริวารลูกน้อง ร่วมสุขทุกข์ วางตนให้เหมาะแก่กาลเทศะ ไม่นอกลู่นอกทาง ย่อมเป็นสิ่งทำให้เกิดความเคารพศรัทธา รักใคร่พึงพอใจต่อตัวลูกน้องบริวารได้
โดยสรุปแล้ว ผู้นำประเทศ หรือผู้นำระดับไหนก็ตามแต่ ควรจะนำหลักพละธรรม ๔ ประการนี้ให้อยู่ในสันดานนิสัย และบ่มเพาะตนเองให้มีหลัก ๔ ประการนี้ เพราะมิฉะนั้นจะเป็นผู้นำที่ดีไม่ได้แน่นอน หากวิเคราะห์ดูอย่างละเอียดถี่ถ้วนจะพบว่า ผู้นำโลก ผู้นำประเทศ ผู้นำองค์กร ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำครอบครัว หากขาดหลักธรรม ๔ ข้อนี้มีแต่จะฉิบหาย ขาดข้อหนึ่งข้อใดไปก็มีแต่พัง ง่ายๆ เพียงผู้นำพูดจาห้วนๆ แบบมะนาวไม่มีน้ำกับผู้สื่อข่าว ผู้นำคนนั้นก็ตกเรื่องสังคหวัตถุ ประเด็นปิยวาจา ผู้นำติดลบเรื่องการพูดจา ผู้นำคนไหนมาอยู่หลายเดือน มาอยู่เป็นปี มาอยู่หลายปี ไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอันที่เด่นชัดตราตรึงหัวใจหัวใจประชาชน อยู่นานวันประชาชนก็ยิ่งทุกข์จากการทำมาหากินอยู่เดือนร้อน ก็ชือว่าไม่มีวิริยพละ ความขยัน ต้องหมั่นขยันสร้างผลงานเป็นที่ปรากฏในเรื่องดีๆ ที่ดีอยู่แล้วก็ต้องขยันทำให้ดียิ่งๆขึ้นไป ขยันในเรื่องการเว้นชั่วทุจริตด้วย ส่วนประเด็นว่า ผู้นำทุจริต ประพฤติมิชอบ หรือมีพฤติกรรมน่าสงสัยว่าไม่ชอบมาพากลกับเรื่องการปกปิดทรัพย์สิน หรือการคอรัปชั่นเชิงนโยบาย มีเอี่ยว ก็ต้องแสดงความชัดเจนออกมา แสดงความบริสุทธ์ใจออกมา ถ้าบกพร่องประเด็นนี้ ก็ชือว่าบกพร่องเรื่อง อนวัชชพละ ประเด็นเรื่องความสามารถ คนเราไม่ได้เก่งทุกเรื่อง ผู้นำประเทศ ผู้นำไหนๆ ก็เช่นกัน ไม่ได้เ่ก่งทุกเรื่อง แต่เรื่องที่ผู้นำต้องเก่งคือ การบริหารตน บริหารคน บริหารงาน ให้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล คำว่าประสิทธิภาพ สรุปงา่ยๆคือ ลงทุนน้อย แต่ได้กำไรหรือผลลัพธ์มากนั่นเอง หรือใช้งบน้อย แต่กำไรสูง ลงทุน 10 บาทได้กำไรหลักร้อยหลักหมื่น หลักล้าน ประโยชน์คุ้มค่า ส่วนประสิทธิผลคือ บรรลุตามวัตถุประสงค์ทุกอย่าง ครบถ้วน และได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ ตั้งเป้าไว้ก็ตรงตามเป้าหมายที่กำหนด
ดังที่กล่าวไปว่า ผู้นำไม่ได้จะทำเป็นไปซะทุกเรื่อง แต่ต้องบริหารตน บริหารคน บริหารงานเป็น ในเมือปฏิบัติไม่ได้ ก็ต้องใช้คนอื่นให้ทำ ต้องใช้คนเป็น รู้จักหาคนเก่งมาใช้ง่าย เหมือนเล่าปี่ แสวงหากุนซือผู้รู้ใจ เก่งกาจหยั่งรู้ฟ้าดินอย่างขงเบ้ง ต้องไปถึงสามครั้งสามครา อ่อนน้อมถ่อมตัว แสดงความจริงใจเพื่อให้ได้นักปราชญ์มาช่วยเหลืองาน ประเด็นนี้รวมความก็คือการให้ความสำคัญกับทรัพยากรมนุษย์ บุคลากรที่ทำงาน ผู้ใต้บังคับบัญชานั่นเอง ผู้นำต้องรู้จักหน้าที่ตนเอง ที่จะกระทำต่อลูกน้อง บริวาร ผู้ใต้บังคับบัญชาตามหลักหนึ่งในทิศทั้ง ๖ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้
ผู้นำในอดีตของไทยวิเคราะห์จริง ก็ไม่ใช่ว่าแต่ละคนจะดีครบถ้วนสมบูรณ์ แต่ว่าแต่ละท่านแต่ละคนนำพาประเทศชาติรอดพ้นมาได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ส่วนที่นำพาประเทศชาติมาได้ก็มีดีอยู่บ้างเด่นๆ แต่พิจารณาดูแล้วก็ไม่หนีจากหลักธรรมพละ ๔ ดังที่กล่าวมาเลย หากสามารถทำทั้ง ๔ ข้อให้บริบูรณ์ได้ด้วยการบริหารตนเอง บริหารคน บริหารงานให้เกิดความสำเร็จอย่างแน่นอน แต่ถ้าเกิดความบกพร่อง ผู้นำคนนั้นก็ต้องหันมาสำรวจตรวจสอบตนเองอย่างจริงจัง เอากระจกส่องดูตนเองว่ายังขาดหลักธรรมข้อใด ก็ทำให้เต็ม แล้วจะร้องอุทานว่า "ธรรมของพระพุทธเจ้านี่ดีจริง" ดั่งนิพนธ์บทกวีสำคัญในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีอยู่ว่า......
"เมืองใดไม่มีทหารหาญ__เมืองนั้นไม่นานเป็นข้า
เมืองใดไร้จอมพารา___ เมืองนั้นไม่ช้าอับจน
เมืองใดไม่มีพาณิชเลิศ___ เมืองนั้นย่อมเกิดขัดสน
เมืองใดไร้ศิลป์โสภณ___ เมืองนั้นไม่พ้นเสื่อมทราม
เมืองใดไม่มี"กวีแก้ว" ___ เมืองนั้นไม่แคล้วคนหยาม
เมืองใดไม่มีนารีงาม___ เมืองนั้นหมดความภูมิใจ
เมืองใดไม่มี"ดนตรี"เลิศ___ เมืองนั้นไม่เพริศพิสมัย
"เมืองใดไร้ธรรมอำไพ"___ เมืองนั้นบรรลัยแน่นอน"
นักปราชญ์ก็บอกอยู่แล้วว่า "เมืองใดไร้ธรรมอำไพ เมืองนั้นบรรลัยแน่นอน" ฉะนั้นสถานการณ์อันไม่ปกติ ไม่มีรัฐธรรมนูญหรือไม้มีรัฐธรรมนูญ ยิ่งต้องนำหลักธรรมาใช้ในการบริหารบ้านเมือง หลักธรรมไม่ใช่เรื่องล้าหลัง ล้าสมัยแต่อย่างใด ของดีอยู่ใกล้ตัวแต่ไม่สนใจ ก็เข้าตำรา "ใกล้เกือบกินด่าง" หรือ "ทัพพีไม่รู้รสแกง" อยู่ใกล้ของดีแต่ไม่ได้รู้รสดี อยู่ใกล้หลักพระพุทธศาสนา แต่ไม่ได้นำไปใช้...
ไม่มีความคิดเห็น